
"มีใครบ้างไม่เคยเข้าเซเว่น ...?"
ผมเชื่อว่าคำตอบที่ได้มานั้นคือ "(แทบจะ) ไม่มี" เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง ลูกเด็กเล็กแดง ทุกคนต่างล้วนเคยเข้ามาแวะเวียนซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ ใน 7-11 อย่างแน่นอน และหากคุณลองมองให้ลึกซึ้งแล้ว คุณจะพบว่า "การมาของ 7-11 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการบริโภคของเรา" จากที่เคยซื้อของกินของใช้กับร้านโชห่วยใกล้บ้าน กลายมาเป็นร้านสะดวกซื้อติดแอร์ฯ ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนั้นผมคิดว่ามาจาก 2 ประเด็นหลักคือ
1. เซเว่น คือศูนย์รวมของสิ่งจำเป็นหลายอย่างในชีวิตคุณไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ของใช้ส่วนตัว ครีม สบู่ น้ำหอม หรือกระทั่งจะจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ชำระค่าโดยสาร ค่าบริการต่างๆ จะอ่านหนังสือ นิตยสารก็ยังมี เรียกได้ว่าเป็นร้านค้าที่ครบครันที่สุดร้านหนึ่งจริงๆ จนบางครั้งถึงกับมีการแซวกันเล่นๆ ว่า
"ตั้งใจจะไปจ่ายค่าไฟที่เซเว่น ... ขากลับได้หนมจีบ ซาลาเปา น้ำเต้าหู้ ... แต่ลืมจ่ายค่าไฟ !!!"
2. สาขาร้านค้าที่มีอยู่มากมาย ครอบคลุมตั้งแต่ใจกลางเมืองมาชานเมือง หรือต่างจังหวัด แม้แต่การเดินทางที่เมื่อแวะพักเติมน้ำมันก็ยังมีเซเว่นตามปั๊มน้ำมันให้คุณได้ใช้ ... ทุกๆ ที่ต่างก็มีเซเว่นรอให้คุณเข้าไปใช้บริการ
สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงการที่ 7-11 มีสินค้า/บริการให้เลือกเยอะ แถมยังมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศอีก แบบนี้สะดวกสมกับที่เป็นร้านสะดวกซื้อจริงๆ ... และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ 7-11 หรือ CPALL เป็นหุ้นยอดนิยม เป็นหุ้นมหาชนอีกตัวหนึ่งของนักลงทุนทุกยุคทุกสมัย
"10 ปีที่ผ่านมา หุ้น CPALL ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 1,800%"
ซึ่งเป็นตัวเลขจากการลงทุนในหุ้น ที่สูงมากพอสมควร และอาจสูงจนทำให้บางคนแปลกใจ ผมจึงได้รวบรวมข้อมูลผลประกอบการของ CPALL ที่น่าสนใจมาให้ดูครับ
- มีสาขาใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
CPALL มียอดการเติบโตของสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 600 สาขา นั่นทำให้ปัจจุบัน (ครึ่งปีแรกของ 2016) CPALL มีสาขารวมแล้วทั้งสิ้น 9,200 กว่าสาขา โดยแบ่งเป็นสาขาในต่างจังหวัด 55% และมีเป้าหมายในการเพิ่มเป็น 10,000 สาขาภายในปี 2018 ซึ่งดูแล้วก็คงจะไม่ยากเกินความสามารถของ CPALL อย่างแน่นอน และยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันในแต่ละสาขาของ CPALL มียอดขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 80,000 บาท !!! พูดง่ายๆ คือ CPALL ได้เงินวันละ 80,000 บาท (ใครที่พยายามคาดการณ์ยอดขาย CPALL ก็ลองจับคูณดูได้เลย)
- แต่ละสาขา มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง (SSS Growth)
SSS Growth หรือ Same Store Sales Growth คือตัวเลขแสดงอัตราการเติบโตของยอดขายของสาขาที่มีอยู่เดิม ว่าขายของได้ มากขึ้น/น้อยลง กี่เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุที่ต้องใช้ SSS Growth แทนการดูยอดขายรวมก็เพราะว่า ตัวเลขนี้จะเป็นการบอกการเติบโตจริงๆ ของบริษัท ว่ายอดขายที่เติบโตมานั้นมันเป็นการเติบโตเพราะสาขาเดิมของบริษัท หรือการเติบโตเพราะเพิ่มสาขาใหม่ "ซึ่งการเติบโตของยอดขายที่ดีมันควรจะเป็นการเติบโตบนสาขาเดิมที่มีอยู่" (ใครจะดูหุ้นค้าปลีก SSS Growth นี่คือเครื่องมือทำมาหากินเลย) ซึ่ง CPALL ก็เป็นบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่ง ที่มียอดขาย SSS Growth เติบโตต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 และ 2 ล่าสุด มี SSS Growth อยู่ที่ +2.6% และ 5.0% YoY
-
อัตรากำไรเพิ่มขึ้น
อัตรากำไรต่างๆ ของ CPALL เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอัตรากำไรขั้นต้น (ยอดขายหักต้นทุนสินค้าและบริการ) EBIT หรืออัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรขั้นต้นหักต้นทุนจากการดำเนินงาน) EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย) และ Net Margin หรืออัตรากำไรสุทธิ ต่างก็อยู่ในระดับที่ดี
- ขายของไว ... จ่ายหนี้ช้า ... มีเงินหมุน
คุณสมบัติสำคัญของ CPALL ที่ทำให้นักลงทุนต่างก็หลงใหล และเป็นเหมือนเสน่ห์อย่างหนึ่งของหุ้นตัวนี้ก็คือ "ขายของไว ... จ่ายหนี้ช้า ... มีเงินหมุน"
- ขายของไว ... ให้ดูที่ Inventory Days ซึ่งจะเป็นการหาว่าบริษัทใช้เวลาในการขายสินค้ากี่วัน อย่าง CPALL ใช้เวลาขายสินค้าที่สั่งซื้อมาเพียง 20 วัน เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างต่ำ และนั่นหมายความว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องไปเปลืองตังค์ไปกับการสร้างโกดังสินค้าอะไรมากมาย เพราะตุนของไว้ไม่กี่วัน ... ก็หมด
- จ่ายหนี้ช้า ... ต้องดูที่ Account Payable Days หรือระยะเวลาในการจ่ายหนี้ อย่าง CPALL เอาของเขามาขาย กว่าจะจ่ายเงินค่าของก็ปาไป 2 เดือนแหนะ อันนี้ไม่ได้หมายความว่า CPALL ดึงเชงจ่ายช้านะครับ แต่เพราะเขาเครดิตดี เจ้าหนี้เลยยอมให้จ่ายช้าได้ถึง 60 วัน และนั่นส่งผลให้ ...!
- มีเงินมาหมุน ... พุ่งไปที่ Cash Cycle Days หรือวงจรเงินสด ซึ่งเกิดจาก ระยะเวลาในการขายสินค้า + ระยะเวลาที่ได้รับเงิน - ระยะเวลาในการจ่ายหนี้ ตัวเลขที่ออกมายิ่งน้อยยิ่งดี ถ้าเป็นบวกหมายความว่า บริษัทต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ามาขายก่อน แต่ถ้าเป็นลบนั่นหมายความว่า บริษัทเอาของมาขายได้ตังค์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้จ่ายค่าสินค้าให้กับ Supplier เลย อย่างกรณี CPALL ซึ่งมี Cash Cycle ติดลบ นั่นหมายถึง CPALL ไปรับของมาขายได้เงิน เอาเงินมาหมุนได้เกือบๆ 40 วันถึงจะเอาเงินไปจ่ายค่าสินค้าคืนให้ Supplier ซึ่งสาเหตุที่ทำแบบนี้ได้เพราะ CPALL ขายของเป็นเงินสด แถมขายได้ไว และมีเครดิตในการชำระสินค้าของถึง 60 วันอีกตะหาก ... แหม!!! เจ๋งจริงๆ
CPALL ถูกหรือแพง ... เมื่อมองผ่าน PE Ratio ?
CPALL เป็นหุ้นที่มี PE Ratio อยู่ในช่วง 30 - 35 เท่ามาตลอดหลายปี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างสูงพอสมควร (เทียบกับ SET Index) แต่ถึงกระนั้นผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติของหุ้นค้าปลีกที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ และ Market Share เองก็เป็นอันดับต้นๆ ของตลาด เรียกได้ว่าคู่แข่งจะเข้ามาตีตลาด แย่งชิง Market Share นั้นก็ทำได้ยากมากๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ CPALL มี และส่งผลให้นักลงทุนยินดีที่จะซื้อหุ้นในราคาที่มี PE สูงๆ ต่อไป

- ประเมินค่า EPS ในอนาคต - เริ่มด้วยจากการหาเปอร์เซ็นต์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น หรือ EPS ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการประเมินราคาหุ้น ซึ่งคุณสามารถหาเปอร์เซ็นการเติบโตได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะประเมินเอาเอง (ออกแนวนักวิเคราะห์) ฟังจากผู้บริหาร (หาได้จาก Opp. Day) และใช้เปอร์เซ็นต์การเติบโตเฉลี่ย ซึ่งในที่นี้สมมติว่าเราประเมินการเติบโตที่ 20% จะทำให้กำไรต่อหุ้นในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเท่ากับกำไรต่อหุ้นของปีที่แล้ว + 20% (1.52+20%) ตัวเลข EPS อันใหม่ก็จะเท่ากับ 1.824
- ประเมิน PE ที่เหมาะสม - โดยเราจะประเมินว่าเมื่อเราจะลงทุนในหุ้นตัวนี้ ธุรกิจแบบนี้ เราเต็มใจที่จะซื้อแล้วคืนทุนนานที่สุดกี่ปี หรือคุณอาจใช้ PE เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี หรือ 5 ปีก็ได้ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้มีเกณฑ์ที่ตายตัว แต่มันมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ บริษัทใดที่มีความเสี่ยงด้านรายได้สูงๆ มีความเสี่ยงด้านธุรกิจสูงๆ ไม่ควรจะมี PE สูง หรือบริษัทใดที่มีความได้เปรียบทางธุรกิจมากๆ ผลประกอบการดีต่อเนื่องยาวนาน และความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ หุ้นพวกนี้มักจะมี PE สูงกว่าหุ้นโดยรวม ในกรณีของ CPALL ผมขอใช้ PE เฉลี่ยย้อนหลัง ประมาณ 35 เท่า น่าจะเป็น PE ที่เหมาะสมกับหุ้นค้าปลีกที่ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักครับ
- จับคูณซิ...รออะไร 35 x 1.824 ตัวเลขที่ได้ออกมาเท่ากับ 63.8 บาท ซึ่งนี่ก็คือราคาหุ้นที่เราประเมินไว้ในอีก 1 ปีข้างหน้านั่นเอง

แล้ว ROA & ROE ล่ะ?
นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยอมซื้อหุ้น CPALL แม้จะมี PE 30 - 40 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ROE ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา CPALL มี ROE อยู่ในระดับ 35% - 40% มาตลอด (ทำกำไรได้ 35% - 40% เทียบกับส่วนของทุน) และอย่างที่ผมเคยได้กล่าวไปในแง่ของวิธีการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบ PE แบบี้ (ภาพด้านล่าง) เป็นการเปรียบเทียบกับอดีตของตัวเอง ว่าที่ผ่านมามีพัฒนาการบ้างไหม อย่างกรณีของ CPALL แม้เราจะไม่ได้เห็นการเติบโตของ ROA & ROE แบบขั้นบันได แต่ที่เราเห็นคือการรักษาระดับของประสิทธิภาพในการทำกำไร และผมเองก็คิดว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องของพัฒนาการเลยครับ

ปริพรรห์ ปริยอุดมทรัพย์ AFPT™