
ปัจจุบันมีอีเมลหลอกลวง หรือ Phishing ที่ส่งมาจากมิจฉาชีพ โดยระบุชื่อผู้ส่ง Bualuang Securities และจะมีลิงก์หรือที่อยู่เชื่อมโยงจาก www.bualuang.service.app-krungsri.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ปลอมแปลงที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยมีเจตนาเพื่อล่อลวงให้ท่านกรอกข้อมูลทางการเงินส่วนตัว เช่น รหัสประจำตัว (User ID) รหัสลับส่วนตัว (Password) เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เป็นต้น
หากพบว่าบริการที่ท่านใช้งานอยู่ปรากฏหน้าจอหรือข้อความที่ไม่คุ้นเคย หรือหากท่านได้กรอกข้อมูลลงในเว็บไซต์ปลอมแล้ว โปรดติดต่อ BLS Customer Service โทร. 0-2618-1111 หรือ ธนาคารกรุงเทพ โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 ทันที
มั่นใจ ปลอกภัยทุกครั้งที่ใช้งาน!!
หลักทรัพย์บัวหลวงใช้ www.bualuang.co.th เป็นเว็บไซต์หลักในการโฆษณาและสื่อสาร ขอแนะนำว่าคุณไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสประจำตัว (Username) รหัสลับส่วนตัว (Password) โดยเด็ดขาด!!
6 นิสัย…เข้าเว็บไซต์การเงินอย่างปลอดภัย
ในวันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น…บริการทางการเงินก็เช่นกัน ช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะฝาก ถอน โอน ชำระค่าบริการ รวมถึงเรื่องการลงทุน มาดูกันว่าเราจะเข้าใช้งานเว็บไซต์ทางการเงินอย่างไรให้ปลอดภัยกัน!!
1. Log in ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้น
ถึงปัจจุบันจะไม่ค่อยมีใครเข้า Internet cafe กันแล้ว แต่คอมพิวเตอร์สาธารณะ หรือสมาร์ทโฟนของผู้อื่น ก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามในการ log in เข้าใช้งานเว็บไซต์การเงินต่างๆ …เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่ามีการลงโปรแกรม Key Logger ไว้หรือไม่ ซึ่งโปรแกรม Key Logger จะคอยดักจับข้อมูลที่เรากดลงไปจาก keybord ไม่ว่าจะเป็นการแชทคุยกับเพื่อน เว็บไซต์ที่เข้า หรือแม้กระทั่ง ID และ password ต่างๆ ก็ถูกดักไปใช้ได้!!
2. พิมพ์ชื่อเว็บไซต์เอง
การจะทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ธนาคาร หลักทรัพย์ หรือแม้กระทั่งบัตรเครดิต อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆของท่าน จะต้องจำและพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ให้แม่น…เพราะบางทีเราอาจจะเจอหน้าเว็บไซต์เลียนแบบที่ URL ผิดกันแค่ตัวเดียว อย่างเช่น .co.th อาจกลายเป็น .com/.net แต่รูปแบบหน้าเว็บไซต์ใกล้เคียงกันมาก หากเราไม่ตรวจสอบให้ดี ก็อาจเข้าผิดทำให้แฮกเกอร์เอาข้อมูลของเราไปได้
3. ไม่ใช้งานผ่าน Wi-Fi สาธารณะ
ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi ตามที่ทำงาน สถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านกาแฟ การเข้าใช้งานเว็บไซต์ทางการเงินผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ ต่างก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกข้อมูลเช่นกัน โดยแฮกเกอร์จะใช้วิธีเปิด Access Point ปลอม เพื่อให้เรากดเข้าไปใช้ Wi-Fi ฟรี ถ้าเราไป log in เข้าเว็บไซต์ทางการเงินผ่าน Access Point ปลอมดังกล่าว ก็อาจจะถูกดักเอาข้อมูลไปใช้ได้…ดังนั้นหากต้องการใช้งานเว็บไซต์ทางการเงินนอกบ้าน ควรใช้งานผ่านระบบ 4G จะปลอดภัยกว่า
4. มองหา https เข้าไว้
การจะดูว่าเว็บไซต์ที่เราเข้าปลอดภัยหรือไม่ ให้ดูที่ “https” โดยจะอยู่ในช่อง URL สำหรับใส่ที่อยู่เว็บ ต้องนำหน้าด้วย https:// และมีรูปแม่กุญแจเสมอ !!โดยตัวอักษร “s” จะยืนยันว่าหน้าเว็บดังกล่าวปลอดภัย มีการเข้ารหัสและติดต่อกับ Server ของเจ้าของเว็บไซต์จริง
5. อย่าตั้งรหัสผ่านง่ายเกินไป
ไม่ควรตั้งรหัสผ่านยอดฮิตง่ายๆ อย่าง “123456” ตัวเลขหรือตัวอักษรเรียงกัน, วันเดือนปีเกิด เพราะสามารถเดาได้ง่าย รหัสผ่านที่เหมาะสมควรจะประกอบด้วยตัวอักษรเล็ก ใหญ่ และตัวเลขผสมกัน
6. Log Out ทุกครั้งเมื่อใช้งานเสร็จ
หลังจากที่ใช้งานเสร็จแล้วไม่ควรปิดหน้าต่างออกเลย แต่ควรจะ Log out ออกจากระบบให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงจะปิดหน้าต่างออก…เพื่อป้องกันกรณีที่ Log in ค้างไว้แล้วมีคนมาใช้งานต่อ และเพื่อป้องกันการ hijack จากผู้ไม่หวังดี…
รู้อย่างนี้แล้ว!! อย่าลืมที่จะเช็คและตรวจสอบความปลอดภัยสักนิดก่อนการเข้าใช้งานนะคะ