
วันนี้ BLS Global Investing จะชวนมาทำความรู้จักบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มระดับโลก ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และเป็นคู่ปรับมาเป็นเวลาหลายสิบปีอย่าง .. Coca-Cola (KO) และ PepsiCo (PEP)
จากที่เราได้มีโอกาสไปถามมา เราจะเห็นว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกบริโภคน้ำอัดลมสีน้ำตาลเข้ม ที่เรามักจะเรียกว่า “โค้ก” หรือ “เป๊ปซี่” กันยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่โค้กก็เป๊ปซี่ ไม่เป๊ปซี่ก็โค้ก
2 แบรนด์นี้ กินกันไม่ขาดจริง ๆ แต่ถ้าหากมาดูส่วนแบ่งการตลาดให้เห็นกันชัด ๆ จะเห็นว่า…
ส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลมทั้งโลก สัดส่วนกว่า ~44% มาจากเครื่องดื่ม Coca-Cola และอีก ~19% มาจากเครื่องดื่ม PepsiCo นั่นเอง (ข้อมูลปี 2562 จาก Statista)
Coca-Cola กินขาดไปอย่างมีนัยสำคัญ… ถึงอย่างนั้น จึงเป็นการบ้านของ PepsiCo ที่จะต้องทำการแย่งส่วนแบ่งการตลาดหรือเพิ่มประเภทสินค้าที่จำหน่ายให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรของบริษัทให้ได้…
รู้หรือไม่ว่า… เมื่อเดือนพ.ค. 2563 เราได้จัดทำบทความ “The Coca-Cola Company (KO) vs PepsiCo Inc. (PEPSI) คู่ปรับตลอดกาล” ซึ่งได้พูดถึงที่มาของรายได้ สัดส่วนรายได้ ส่วนแบ่งการตลาด และจุดเหมือน จุดต่าง แสดงถึงการเปรียบเทียบที่น่าสนใจของทั้ง 2 บริษัทนี้เอาไว้แล้ว สามารถติดตามอ่านกันได้ที่ https://bls.tips/cocacolavspepsico
และสำหรับบทความนี้ เราจะมาชวนอ่านและทำความรู้จักโมเดลธุรกิจให้มากขึ้น อัปเดตประเด็นที่น่าสนใจ วิเคราะห์จุดเด่น ทำอย่างไร? ธุรกิจจึงเติบโตต่อเนื่อง สามารถครองใจคนทั่วโลกได้ยาวนานขนาดนี้ พร้อมประเด็นการลงทุนของหุ้นทั้ง 2 บริษัทนี้กันค่ะ
โมเดลธุรกิจและจุดเด่นของ The Coca-Cola Company (KO.US)
อัปเดตที่มาและสัดส่วนของรายได้
Source: Coca-colacompany.com
รายได้กว่า 31.5% มาจากการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มในประเทศแถบอเมริกาเหนือ โดยสัดส่วนรายได้ที่รองลงมาอันดับ 2 นับว่าน่าสนใจ เนื่องจากเป็นรายได้ที่บริษัทได้รับจากการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตขวดน้ำหลากหลายรูปแบบ และมีจำนวนโรงงานผลิตขวดภายใต้บริษัทในเครือนั้น ๆ อยู่ถึง 900 แห่ง และกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนของขวดน้ำที่ Coca-Cola ใช้ในการบรรจุน้ำจำนวน 1,900 ล้านขวดต่อวัน
ทำไมคนถึงเลือกสินค้าของ Coca-Cola
จะเห็นว่าสินค้าของ Coca-Cola พยายามทำการตลาดให้สินค้าเป็น “ตัวแทนของความสุข” อีกทั้งสร้างการตลาดให้ผู้บริโภครู้สึกว่าหากซื้อ Coca-Cola ไปบริโภค ก็จะรู้สึกมีความสุข การบริโภคของสินค้าที่ล้วนมาจากการตัดสินใจทางด้านอารมณ์และความรู้สึก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการอยู่รอด อย่างไรก็ดี Coca-Cola ได้รับความนิยมมาแล้วมากกว่า 130 ปี แสดงถึงความประสบความสำเร็จในการสร้างคุณค่าของสินค้าในรูปแบบนี้
ถึงแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้และกำไรโดยรวมลดลงในปี 2563 เนื่องจากคนออกจากบ้านกันน้อยลง ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวปิดหลายแห่งหรือปิดเร็วขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคเครื่องดื่ม Coca-Cola ในปริมาณที่น้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคมักเลือกบริโภคสินค้าเหล่านี้เมื่ออยู่นอกบ้านหรืออยู่ตามร้านอาหาร
อีกเหตุผลที่ทำให้คนเลือกสินค้าของ Coca-Cola มากกว่า PepsiCo เนื่องจากจำนวนช่องทางการจำหน่ายของ Coca-Cola มีมากกว่า เช่น เครื่องดื่ม Coca-Cola จะพบเจอได้มากกว่าในร้านอาหารประเภท Fast-food ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน อาทิ McDonald’s, Subway และ Burger King ฯลฯ
จุดเด่น เมื่อเทียบกับคู่แข่งคืออะไร
- เมื่อไตรมาส 1 ปี 64 ที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้นมากกว่า Bloomberg คาดการณ์กว่า 11% เหตุผลหลักเกิดจากการฟื้นตัวของยอดขายที่ส่งผลทำให้รายได้รวมโตที่ 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งตัวเลขงบไตรมาส 1 ปี 2564 นั้นดีกว่าคาดแทบทั้งสิ้น นับว่าบริษัทฟื้นตัวกลับมาได้ดีพอสมควร หากเปรียบเทียบในช่วงวิกฤตโควิดระบาดหนัก
- หากมองจากสัดส่วนรายได้ เนื่องจากสินค้าของ Coca-Cola กระจายไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก การเติบโตของยอดขายและรายได้ในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน ประเทศที่มีโอกาสในการเติบโตอยู่อีกมาก ได้แก่ ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกและลาตินอเมริกา ที่ในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมารายได้โตถึง 18% และ 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายประเทศแถบอเมริกาเหนือมีสัดส่วนกว่า ~32% มีการเติบโตเพียง 3% จึงนับว่าเป็นข้อดีของ Coca-Cola เช่นกัน ที่รายได้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงประเทศแถบใดแถบหนึ่งเท่านั้น หนุนความมั่นคงของรายได้ในเวลาเดียวกัน
- หลายแบรนด์เครื่องดื่มของบริษัท Coca-Cola ติดใจผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ Coca-Cola หรือโค้ก แต่มีแบรนด์อื่นด้วย อาทิ Sprite, Fanta เป็นต้น
แผนเติบโตในอนาคต
- Coca-Cola พยายามสร้างระบบภายในองค์กรใหม่ โดยพยายามทำให้ Decentralize หรือการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางให้มากขึ้น เพื่อให้องค์กรเกิดความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจ รวมไปถึงเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการทำงานเช่นกัน โดยแผนนี้ นับว่าเป็นแผนการอนาคตที่น่าสนใจ เนื่องจากจะสามารถช่วยเพิ่มอัตรากำไรของบริษัท (Margin) ได้ในระยะยาว
- ถึงแม้ยอดขายในปีนี้กลับมาโต หลังจากผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทยังมุ่งเพิ่มรายได้จากการเปิดตัวสินค้าใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่อย่างต่อเนื่อง จุดแข็งของ Coca-Cola คือการเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มอันดับ 1 เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีการจำหน่ายขนมขบเคี้ยวเหมือนกับ PepsiCo แต่เน้นไปที่เครื่องดื่มที่หลากหลาย สามารถบริโภคคู่กับอาหารได้เป็นอย่างดี และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น อาทิ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเปิดตัวเครื่องดื่มสุขภาพระดับพรีเมียม 3 รสชาติใหม่ ส่วนผสมของน้ำจะมีอิเล็กโทรไลต์ถูกใส่เข้าไปด้วย โดยเริ่มวางขายในตลาดสหรัฐฯก่อน ภายใต้แบรนด์ Smartwater®+ โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ อีกทั้งใช้ส่วนผสมพรีเมียม อาทิ ชาเขียว โสม ฯลฯ เพื่อกระตุ้นยอดขาย หลังจากผู้บริโภคเริ่มสนใจและติดแบรนด์ Smartwater®+ กันมาระดับนึงแล้ว
แล้วสำหรับหุ้น Coca-Cola (KO.US) ยังน่าสนใจไหม
- หากมองในมุมมองการลงทุน โมเดลธุรกิจของ KO ยังนับว่าดีและมั่นคงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถครองใจผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน ยากที่จะเปลี่ยนใจไปบริโภคแบรนด์อื่น พร้อมกับการปรับโครงสร้างบริษัทให้มีความคล่องตัวหรือที่เรียกว่า Agility มากขึ้น หนุนการเติบโตต่อในอนาคต และหลังจากนี้ บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งอาจทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งปี 2564 นี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายรายได้โต 7-9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และกำไรต่อหุ้น (EPS) โต 7-12% เทียบกับปีก่อน ด้านมูลค่าหุ้น ยังน่าสนใจ จากการที่ตัวเลข Forward P/E ปี 64 อยู่ที่ 4 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี (รวมช่วงวิกฤตโควิด-19) ที่ 26.8 เท่าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นผู้ทำธุรกิจเครื่องดื่มราว 29.3 เท่า
โมเดลธุรกิจและจุดเด่นของ PepsiCo (PEP.US)
อัปเดตที่มาและสัดส่วนรายได้
Source: Pepsico.com
Source: Pepsico.com
รายได้หลักที่สัดส่วนกว่า 34% ของรายได้รวม หรือ 5,074 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาจากการจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ PepsiCo อาทิ น้ำอัดลมเป๊ปซี่ เฉพาะในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ในขณะที่บริษัท Coca-Cola มีรายได้จากแหล่งเดียวกันที่ 2,937 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้อยกว่าคู่แข่งอย่าง PepsiCo อย่างเห็นได้ชัด
และสำหรับสัดส่วนรายได้รองลงมาของ PepsiCo จะอยู่ที่ 29% ของรายได้รวมที่ 4,236 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาจากการจำหน่าย Frito-Lay (หรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า เลย์) ในประเทศแถบอเมริกาเหนือ โดยจะเห็นว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มและเลย์ของ PepsiCo คิดเป็นรายได้กว่า 60% ของรายได้ทั้งหมดแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการครองส่วนแบ่งการตลาดที่ดีพอสมควร ทั้งสินค้าเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ซึ่งรายได้หลักมาจากการจำหน่ายในอเมริกาเหนือทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตในภูมิภาคอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต อีกทั้งหากลองมองการเติบโตของรายได้จากแถบประเทศอื่น ๆ อาทิ แถบประเทศเอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน ไตรมาส 1 ปี 2564 มีการเติบโตคิดเป็น 18% เทียบกับปีก่อนเช่นกัน (สำหรับ Coca-Cola จะแบ่งเป็นประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกอย่างเดียว)
ทำไมคนถึงเลือกสินค้าของ PepsiCo
Source: Coca-colacompany.com
สินค้าภายใต้ PepsiCo กระจายไปมากกว่า 200 ประเทศ (จำนวนพอ ๆ กับ Coca-Cola) ซึ่งการตลาดถือเป็นเรื่องที่สำคัญในตลาดเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีคู่แข่งน้อยราย ดังนั้นเราจึงเห็นการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ผ่านการใช้แคมเปญทางการตลาด เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของแบรนด์ให้มากขึ้น โดยจะเห็นว่าในยุคหลัง ๆ PepsiCo หันมาทำการตลาดกับคนวัยรุ่นมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าเครื่องดื่มแบรนด์อื่น ๆ ภายใต้ PepsiCo มากกว่า 20 แบรนด์ และมีอยู่หลายแบรนด์ที่สำคัญต่อบริษัทเช่นกัน อาทิ Gatorade, Pepsi-Cola, Quaker, Tropicana เป็นต้น
Source: Pepsico.com, as of 22/4/21
จุดเด่น เมื่อเทียบกับคู่แข่งคืออะไร
- จากที่กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของ PepsiCo คือ ขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์ Frito-Lay ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงของการระบาดโควิด-19 เครื่องดื่มมียอดขายลดลง เนื่องจากคนบริโภคน้อยลง จากการล็อคดาวน์และการที่คนกักตัวอยู่บ้าน อย่างไรก็ดียอดขายจากเลย์เพิ่มขึ้น ทดแทนยอดขายของเครื่องดื่มที่ลดลง แสดงถึงการกระจายธุรกิจได้ดีของ PepsiCo
แผนเติบโตในอนาคต
- บริษัทเผยว่ามีแผนพัฒนาสินค้าหลักให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาทิ Pepsi, Tropicana, Mountain Dew, Doritos เป็นต้น เนื่องจากบริษัทยังเล็งเห็นถึงโอกาสจากสินค้าเหล่านี้ โดยข้อมูลจาก PepsiCo เผยว่าส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มของ PepsiCo ทั่วโลก ยังอยู่ที่ 7% และ 9% ตามลำดับ และบริษัทมองว่าส่วนแบ่งการตลาดจะสามารถเติบโตเฉลี่ย 5 ปีได้กว่า 4-5% ต่อปี
- เน้นเปิดตัวสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก อาทิ Gatorade Zero ที่ไม่มีน้ำตาลและมีจำนวนแคลอรี่ที่ 10 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 ขวด หรือ Gatorade G2 ที่มีน้ำตาลและจำนวนแคลอรี่ เพียงครึ่งนึงจากแบบปกติ เป็นต้น
ตัวอย่างสินค้าอื่น
Source: Pepsico.com, as of 22/4/21
- เพิ่มการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) หลายเจ้า อาทิ Rockstar บริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง, Pioneer Foods ผู้ผลิตและส่งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มหลายแบรนด์รายใหญ่ในประเทศแถบแอฟริกาใต้ เป็นต้น
มูลค่าหุ้น PepsiCo (PEP) น่าสนใจไหม
- ล่าสุด PEP ประกาศ EPS หรือกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ 21 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าที่ Bloomberg คาดการณ์ที่ ~0.1 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุมาจากการเติบโตของรายได้ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งบริษัทยังมองว่าอาจมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้อีกในไตรมาส 2 จากการเปิดเศรษฐกิจในต่างประเทศ
- จากที่กล่าวไป รายได้ของ PepsiCo ยังแข็งแกร่ง จากการที่แหล่งรายได้มาจากหลายประเภทสินค้าที่จำหน่าย อีกทั้งที่ผ่านมา ผลประกอบการสูงกว่าคาดการณ์ทั้งสิ้น และการเติบโตของสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวก็เติบโตดีเช่นกัน
- ในปัจจุบัน มูลค่า P/E อยู่ที่ ~21.0 เท่า ซึ่งเรามองว่ายังน่าสนใจ และยังไม่ได้รวมปัจจัยหลังเปิดเศรษฐกิจของทั้งในประเทศแถบอเมริกาเหนือ รวมถึงประเทศอื่นอีกหลายประเทศ และหากมาดูค่า EV/EBITDA เฉลี่ย 2 ปี ย้อนหลัง ของ PEP ซึ่งอยู่ที่ ~15.8 เท่า พอ ๆ กับค่าเฉลี่ยของคู่แข่งหลายราย ซึ่งอยู่ที่ ~15.6 เท่า
📌 เปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศออนไลน์ง่าย ๆ สไตล์ BLS Global Investing ได้ที่ https://bls.tips/openglobalinvesting
📌 ขยายวันโอนเงินไปต่างประเทศกับหลักทรัพย์บัวหลวง ฟรี! ค่าธรรมเนียมโอนเงิน ทุกวันอังคาร และ วันพุธตลอดวัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://bls.tips/globalinvesttransfer
📌 ติดตามรายงานการลงทุนต่างประเทศ คัดสรรสำหรับลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง “เนื้อหาอัดแน่นและจัดเต็ม” ทุกสัปดาห์ ในเมนู Global Research https://bls.tips/reportblsglobalinvesting
Sources: Bloomberg, Pepsico.com, Investors.coca-colacompany.com, Mashed, as of 23/4/64