
ในมุมของการลงทุนแบบ Active Fund นั้น จากชื่อก็พอๆ จะเดาได้อยู่แล้วว่าความหมายของ Active คือ ความกระตือรือร้น ความคล่องแคล่ว ซึ่งในเชิงของการลงทุนนั้นมันเปรียบได้เสมือนการลงทุนเชิงรุก “Active Fund” เน้นการลงทุนที่หลากหลายตามนโยบายกองทุน ซึ่งบอกได้เลยว่า ผลตอบแทนที่ได้รับนั้นจะดีหรือแย่กว่าตลาดขึ้นอยู่กับฝีมือ ความสามารถของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก พออ่านดูแล้วจะรู้สึกออกแนวบู้ๆหน่อย ก็เพราะเป้าหมายของ Active Fund นั้นจะแน่วแน่ โดยมุ่งเป้าไปที่ผลตอบแทนที่ได้รับต้องสูงกว่า ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ซึ่งถ้าอยากจะรู้ว่ากองทุนไหนบ้างที่ชนะตลาด ก็ต้องนำกองทุนนั้นๆ มาเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหรือไม่?
กองทุนเชิงรุก Active Fund
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าผลตอบแทนขึ้นอยู่กับฝีมือ ความสามารถของผู้จัดการกองทุน และอีกหนึ่งสิ่งเหมือนจะเป็นสภาพของตลาดหุ้น ซึ่งหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนนั้น ต้องเลือกแนวทางการลงทุนที่คิดว่าดี โดยมีการประเมินผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงแล้ว ส่วนใหญ่หลักการคัดเลือกหุ้นลงทุนนั้นจะมีกลยุทธ์วิเคราะห์ 2 แบบ คือ Top Down และ Bottom Up
มาเริ่มกันที่การวิเคราะห์ Top Down กันก่อน มันคือการวิเคราะห์จากภาพใหญ่ วิเคราะห์เศรษฐกิจ ก็คือ GDP, GNP, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, อัตราการว่างงาน ต่อด้วยการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ก็คือ วงจรของอุตสาหกรรม การแข่งขันอุตสาหรรม และนำไปสู่การวิเคราะห์ภาพเล็ก ก็คือการวิเคราะห์บริษัท ถึงประเภทธุรกิจ อัตราการเติบโตของบริษัท นโยบาย และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน กลับกันถ้าเป็นการวิเคราะห์แบบ Bottom Up นั้นจะเริ่มจากการวิเคราะห์บริษัทก่อนจากข้อมูลงบการเงิน PE PBV Dividend Yield จากนั้นต่อด้วยการวิเคราะห์อุตสาหกรรมตลอดจนการวิเคราะห์เศรษฐกิจ…
จุดเด่นของ Active Fund ถ้าผู้จัดการกองทุนเก่ง ผลตอบแทนย่อมชนะตลาดแน่นอน!! อีกทั้งในภาวะที่ตลาดผันผวน ขาลงและ Sideways ต้องเริ่มมีการปรับแผนการลงทุน และเริ่มมีการควบคุมความเสี่ยง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะมีความเป็นอิสระมากกว่า จึงสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนได้!!
กองทุนเชิงรับ (Passive Fund)
เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ ในสัดส่วนเดียวกันกับดัชนีอ้างอิง เพราะมองว่าตลาดมีประสิทธิภาพ ทุกคนมีข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน ไม่มีนักลงทุนที่สามารถใช้ข้อมูลภายในเพื่อทำกำไรจากการซื้อขายได้ และมองว่าเป็นเรื่องยากที่ในระยะยาวจะลงทุนให้ชนะตลาดได้ จึงเชื่อว่าการลงทุนตามดัชนีจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องพยายามลงทุนเพื่อชนะตลาด แต่แค่เกาะไปตามดัชนีก็เพียงพอแล้ว!!
เครื่องมือสำคัญที่ช่วยดูว่ากองทุนที่เราสนใจ ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงหรือแตกต่างจากดัชนีตลาดมากน้อยเพียงไร ก็คือ Tracking Error ถ้ากองทุนนั้นให้ผลตอบแทนที่แตกต่างจากดัชนีตลาดมาก ก็จะมีค่า Tracking Error ที่สูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จาก ค่าบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องหักออกจากผลตอบแทนของกองทุน หรือ กองทุนนั้นอาจจะไม่ได้ลงทุนเลียนแบบ หรือตามดัชนีอ้างอิงเต็มที่ 100%
จุดเด่นหลักๆของกองทุนแบบเชิงรับ คือ ค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนประเภทนี้จะต่ำ เพราะเป็นการลงทุนตามดัชนี ก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนบ่อยนัก ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายจึงต่ำกว่า อีกทั้งไม่จำเป็นต้องจ้างผู้บริหารจัดการกองทุนที่เก่ง เพื่อเลือกสินทรัพย์ลงทุน หรือหาจังหวะเข้าซื้อขายเหมือนกับกองทุนเชิงรุก (Active Fund) และไม่ต้องกังวลไปว่าผู้บริหารกองทุนจะเลือกลงทุนผิดพลาดแต่ข้อเสียของการลงทุนตามดัชนีก็คือ ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน หากตลาดปรับตัวลดลง ผลตอบแทนที่ได้ก็จะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนได้
เลือก Active Fund หรือ Passive Fund ดีกว่ากัน….
จากข้อมูลที่อ่านมาข้างต้น เราจะเห็นได้ชัดๆอยู่แล้วในเรื่องของนโยบายกองทุน ผลตอบแทนและความเสี่ยง ซึ่งถ้าคุณเป็นขาลุย ยอมรับความเสี่ยงได้ จัดไปเลยกับ Active Fund กองทุนเชิงรุก หรือถ้าคุณเป็นคนที่ยอมรับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ เน้นการลงทุนสร้างผลตอบแทนระยะยาว เลือก Passive Fund กองทุนเชิงรับไปเลยๆ