Bond-Risk
Bond-Risk

ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ ควรรู้ความเสี่ยงอะไรบ้าง

ก่อนลงทุนในหุ้นกู้ ควรรู้ความเสี่ยงอะไรบ้าง
ในช่วงที่สถานการณ์การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น ยังไม่ค่อยเป็นใจเท่าไรนัก อีกทางเลือกในการลงทุนที่นักลงทุนหลายท่านกำลังให้ความสนใจ ก็คือ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คงที่และแน่นอน อย่าง “ตราสารหนี้”

อย่างไรก็ดี...ถึงแม้ตราสารหนี้อาจดูเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ แต่ขึ้นชื่อว่า “การลงทุน” ย่อมมี “ความเสี่ยง” ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้เอกชน หรือ หุ้นกู้ ก็ย่อมมีความเสี่ยงเช่นกัน


วันนี้เราอยากจะชวนนักลงทุนมาดูกันว่าความเสี่ยงหลักที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนการลงทุนในหุ้นกู้นั้น มีอะไรบ้าง?
image
 
  1. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการซื้อขาย (Liquidity Risk) ปกติตราสารหนี้ที่มีจำนวนออกเสนอขายสูง มักมีสภาพคล่องในการซื้อขายมากกว่าตราสารที่มีจำนวนออกเสนอขายต่ำ และอาจขึ้นอยู่กับความสนใจในตราสารหนี้นั้นของนักลงทุน หากตราสารหนี้ที่เราลงทุนมีจำนวนออกเสนอขายต่ำหรือไม่ได้รับความสนใจที่มากพอ จะทำให้ตราสารหนี้นั้นไม่มีสภาพคล่องในตลาด หากนักลงทุนต้องการขายตราสารหนี้นั้นก่อนครบกำหนดอายุ อาจขายไม่ได้ตามราคาที่ต้องการ และทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ได้ ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ด้วยการคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้ที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ และลงทุนไปจนครบกำหนดอายุ
 
  1. ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับราคาตราสารหนี้ เช่น หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง หากต้องการขายก็มีโอกาสได้รับเงินต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนได้ (Discount Bond) ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น หากต้องการขายก็มีโอกาสได้รับเงินสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนได้ (Premium Bond) นั่นเอง ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยได้ด้วยการถือลงทุนไปจนครบกำหนดอายุ
 
  1. ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ออกตราสาร (Issuer) ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย/เงินต้นคืนได้ตามกำหนด ซึ่งก็คือการ “เบี้ยวหนี้” นั่นเอง โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้ จะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงประเภทนี้มากที่สุด ดังนั้น นักลงทุนต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารได้จาก “อันดับเครดิต” ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ว่ามีมากหรือน้อย ซึ่งอันดับเครดิตจะจัดทำโดยสถาบันจัดอันดับเครดิต เช่น ทริส เรทติ้ง (TRIS) และ ฟิชท์ เรทติ้ง (Fitch) โดยจะแบ่งเป็นระดับ AAA ถึง BBB- หมายถึงอันดับตราสารที่ลงทุนได้ (Investment Grade) มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และระดับ BB+ ถึง D หมายถึงตราสารเก็งกำไร อาจมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ได้ด้วยการพิจารณาเลือกลงทุนในตราสารที่อยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) และติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกอยู่เสมอ
 
  1. ความเสี่ยงด้านการนำเงินไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) ความเสี่ยงประเภทนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้ม “ปรับตัวลดลง” โดยมักเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่มาก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้รับเงินต้น/ดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ครบอายุ แล้วนำเงินที่ได้รับนั้นไปลงทุนต่อในตราสารหนี้ปัจจุบันที่ได้รับผลตอบแทนที่ลดลง ซึ่งนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนต่อได้ด้วยการจัดสรรพอร์ตการลงทุนตามระยะเวลาตราสารให้เหมาะสมกับตนเอง

นอกจากความเสี่ยงหลักที่นักลงทุนต้องพิจารณามากเป็นพิเศษตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นที่ในบางสถานการณ์อาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมได้ เช่น ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ลงทุนไม่สามารถชนะเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงได้ หรือความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Event Risk) เช่น มีการควบรวมกิจการของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้กับบริษัทอื่น เป็นต้น ดังนั้น หากนักลงทุนมีการวางแผนการลงทุนที่ดี มีการประเมินผลตอบแทนกับความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้เป็นอย่างดีแล้ว การลงทุนในหุ้นกู้ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนได้เช่นกัน

ที่มา: ThaiBMA, BLSBond
----------

เริ่มต้นลงทุนตราสารหนี้ กับหลักทรัพย์บัวหลวง เพียงเปิดบัญชีหุ้นออนไลน์ (อนุมัติเพียง 15 นาที) คลิก https://bls.tips/KnowledgeTeam

#ตราสารหนี้ #หลักทรัพย์บัวหลวง #BLSBond #BLS

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง