8307
8307

“เครื่องมือวัดความเสียว ... ตอนที่ 1”

“เครื่องมือวัดความเสียว ... ตอนที่ 1”

capture-20160629-111436

เห็นชื่อบทความแล้วอย่าเพิ่งตกใจว่าผมจะพาไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง ... หรือหวาดเสียวนะครับ (แฮร่!) แต่ความเสียวที่ผมพูดถึงก็คือความเสี่ยงนั่นเอง โดยไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน หรือตราสารหนี้ เราก็สามารถวัดความเสี่ยงได้จากเครื่องมือหลายตัวด้วยกัน ... วันนี้เราจะมาพูดถึงตัวแรกสุด Basic สุด ๆ นั่นก็คือ “Standard Deviation” หรือการวัดความเสี่ยงแบบ ส.บ.ม. (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)

เมื่อพูดถึงเรื่องการวัดความเสี่ยง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึง S.D. (Standard Deviation) เพราะเจ้าเครื่องมือตัวนี้ถือว่าเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายเลยล่ะครับ ด้วยการที่สามารถคำนวณได้ไม่ยากแล้ว มันยังสามารถใช้คำนวณร่วมกับเครื่องมือวัดความเสี่ยงตัวอื่น ๆ อีกหลายตัว อันเนื่องมาจากการที่มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ทฤษฎีทางสถิติมาเป็นตัวคำนวณ ทำให้ง่ายต่อการคำนวณและความแม่นยำก็อยู่ในระดับหล่อเหลาเอาการด้วย ซึ่งช่วยประกอบการตัดสินใจได้มากพอสมควรเลยทีเดียว โดยหลักการคำนวณ S.D. นั้น จะเป็นการนำข้อมูลย้อนหลังมาคำนวณหาการกระจายของข้อมูล เพื่อดูว่าข้อมูลที่เราสนใจนั้น มันมีการกระจายตัวต่างไปจากค่าเฉลี่ยมากน้อยแค่ไหน ถ้าค่า S.D. มาก ก็หมายความว่าข้อมูลส่วนใหญ่มีการกระจายต่างไปจากค่าเฉลี่ยมาก หรือหากค่า S.D. น้อย ก็หมายความว่าข้อมูลส่วนใหญ่มีการกระจายแตกต่างจากค่าเฉลี่ยเล็กน้อยเท่านั้นเองครับ

ในด้านการลงทุน ค่า S.D. ถูกนำมาใช้เป็นตัววัดความเสี่ยงของราคาสินทรัพย์ว่าในรอบระยะเวลาดังกล่าว ราคาสินทรัพย์มีการกระจายตัวออกจากค่าเฉลี่ยมากน้อยแค่ไหน

“S.D. เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการลงทุน ความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาสินทรัพย์ในอนาคตแตกต่างไปจากที่เราคาดหวังไว้ พูดง่ายๆคือ ถ้าค่า S.D. นั้นมีค่ามาก หมายถึงความเสี่ยงสูง ส่วนค่า S.D. ที่มีค่าน้อย ก็หมายถึงความเสี่ยงที่น้อย"

โดยการนำไปใช้นั้น นอกจากจะเป็นการนำไปใช้ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับความเสี่ยงแล้ว ยังสามารถนำไปเปรียบกับผลตอบแทนได้อีกด้วยครับ

ยกตัวอย่างเช่น มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอยู่ 2 กองทุน คือกองทุน A และ B โดยที่กองทุน A ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากับ 14% และมีค่า S.D. เท่ากับ 4% ส่วนกองทุน B ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11% และมีค่า S.D. เท่ากับ 2% เมื่อนำความเสี่ยงมาพิจารณากับผลตอบแทนโดยคำนวณจาก (S.D. / Avg. Return) x 100 ค่าที่ได้ของทั้งสองกองจะเท่ากับ

กองทุน A เท่ากับ (4/14) x 100 = 28.57%

กองทุน B เท่ากับ (2/11) x 100 = 18.18%

การคำนวณในรูปแบบดังกล่าว เรียกว่า Coefficient of variation หรือค่า C.V. ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนว่า

“ในผลตอบแทนทุก ๆ 1% ที่ได้มานั้น จะต้องแลกด้วยความเสี่ยงเท่าไหร่ ?”

ซึ่งผลที่ได้คือกองทุน A จะใช้ความเสี่ยงถึง 28.57% เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทน 1% ต่างกับกองทุน B ที่ใช้ความเสี่ยงเพียง 18.18% เท่านั้น ก็จะได้ผลตอบแทน 1% เท่ากัน และนั่นทำให้นักลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุน B ซึ่งมีค่า C.V. น้อยกว่า ซึ่งสำหรับคนที่อยากรู้ว่ากองทุนที่กำลังลงทุนอยู่ มีค่า C.V. เป็นเท่าไหร่ สามารถเข้าไปดูค่า S.D. ได้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนที่คุณสนใจได้ครับ

อย่างที่ผมได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า S.D. เป็นพื้นฐานของการคำนวณในหลาย ๆ เครื่องมือ ทำให้ S.D. เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในระดับหนึ่งที่นักลงทุนทุกท่านไม่ควรมองข้ามครับ ... (ตอนที่ 2 Information Ratio)

ปริพรรห์ ปริยอุดมทรัพย์ AFPT™

capture-20160226-093943

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง