
1. Ferrari (RACE): รถสปอร์ต
2. Nike (NKE): เสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกาย
3. Estee lauder (EL): สกินแคร์และเครื่องสำอาง
4. Marriott (MAR): โรงแรม
5. PVH Corp. (PVH): เสื้อผ้าแฟชั่น
นักลงทุนหลายท่าน อาจรู้จักแบรนด์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย แต่วันนี้ ทีม BLS Global Investing อยากจะชวนมาทำความรู้จักธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือแม้แต่ให้บริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องสำอาง โรงแรม รถยนต์! ว่าธุรกิจเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร? ทำไมถึงมีคนรู้จักมากมายขนาดนี้ ?
เริ่มจาก…
1. Ferrari (RACE)
แบรนด์รถสปอร์ตสุดหรูแห่งสัญชาติอิตาเลียน
Ferrari ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2472 ซึ่งนับว่ายาวนานเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น อีกทั้งเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักระดับโลก เมื่อนึกถึงรถสปอร์ต คนส่วนมากก็คงจะนึกถึงแบรนด์ Ferrari กันในอันดับต้น ๆ คำว่ารถสปอร์ต มักจะมากับความรู้สึกหรูหรา แพง และเร็ว โดย Ferrari ได้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ามาได้ดีตลอดมา
ความน่าสนใจของ Ferrari
- สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา Ferrari เป็น 1 ใน 2 บริษัทชั้นนำที่ยังคงสามารถสร้างกำไรได้ โดยอีกเจ้าหนึ่งก็คือ Porsche ในขณะที่แบรนด์รถสปอร์ตชั้นนำอื่น ๆ อาทิ Bentley, Bugatti, Lamborghini และ Maserati มีผลขาดทุน แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของ Ferrari และโมเดลธุรกิจที่ดีและชัดเจนมาโดยตลอด รวมไปถึงการจัดการสินทรัพย์บริษัทที่ช่วยหนุนกำไรให้เป็นบวกได้ ถึงแม้รายได้รวมของ Ferrari ในปี 2563 จะลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- สัดส่วน EBITDA ของรายได้รวมในปี 2563 อยู่ที่ 33% ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น อีกทั้ง Ferrari ในปีนี้ (ปี 2564) Ferrari มุ่งไปที่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโดยมีการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อวิจัยและพัฒนาในปี 2563
- ตัวเลขยอดส่งมอบรถและรายได้เฉลี่ยต่อคัน เป็นข้อมูลที่สำคัญ สำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์
Source: UBI Banca
อาจเรียกได้ว่า Porsche เป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Ferrari อย่างไรก็ดี Ferrari จะเห็นว่ารายได้เฉลี่ยต่อคันของ Ferrari ยังสูงกว่า Porsche และหากดูที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเทียบกับรายได้รวม (EBIT Margin) ปี 2563 จะเห็นว่า Ferrari มี margin อยู่ที่ 20.5% ในขณะที่ margin (ข้อมูลของ Porsche จะเป็น 9 เดือนรกของปี 2563) อยู่ที่ 10.8%
2. Nike (NKE)
แบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาชื่อดังของสหรัฐฯ
Nike นับว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นอันดับต้น ๆ ที่เป็นที่รู้จักและเป็นขวัญใจคนในหลากหลายช่วงอายุ หนุนโดย เทรนด์การออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น
มุมมองธุรกิจ Nike ในอนาคต
- พันธมิตรทางด้าน Research ของเรา Morgan Stanley คาดการณ์กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปี 64 (รอบปีบัญชี 1 ธ.ค. 2563 – 28 ก.พ. 2564) เพิ่มขึ้นสู่ 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้จะมองว่ารายได้ของ Nike ในไตรมาสเดียวกันจะลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (รอบปีบัญชี 1 ก.ย. – 30 พ.ย. 2563) จากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 และการแออัดของการขนส่งทางเรือ ซึ่งทำให้การส่งสินค้าระหว่างประเทศเกิดความล่าช้า โดยทั้งปี 2564 EPS หรือกำไรต่อหุ้นที่ MS คาดการณ์จะอยู่ที่ 3.3 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.6 เหรียญสหรัฐฯ แสดงถึงความแข็งแกร่งในการเติบโตและ Nike ยังเป็นแบรนด์ที่จะได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจ เนื่องจากคนจะเริ่มหันมาออกกำลังกายมากขึ้น เทรนด์การสวมใส่ activewear ฟื้นตัว และอาจส่งผลทำให้สินค้าของ Nike มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- Nike มุ่งกลยุทธ์แบบ direct-to-customer (DTC) ผ่านการซื้อขายออนไลน์ (e-commerce) อีกทั้งยังเน้นการจำหน่ายสินค้าในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้รายได้ในอนาคตของ Nike ยังสามารถเติบโตได้ดี รวมไปถึงการเติบโตของ margin และกำไรต่อหุ้นเช่นกัน อีกทั้งหากเปรียบเทียบโมเดลธุรกิจและสัดส่วนกำไรเทียบกับรายได้รวมของ Nike นับว่ายังดีกว่าคู่แข่งและดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
3. Estee Lauder (EL)
แบรนด์หรู ด้านสกินแคร์ เครื่องสำอาง รวมไปถึงน้ำหอม ทางฝั่งสหรัฐฯ
สิ่งที่ขาดไม่ได้ของผู้หญิงหลาย ๆ คนก็คือ ‘เครื่องสำอาง’ เครื่องสำอางเป็นของใช้ที่จำเป็น ยิ่งมีแบรนด์ ก็ยิ่งสร้างคุณค่าและสร้างความรู้สึกถึงความสวยงามได้มากขึ้นเช่นกัน
Estee Lauder จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเรามองว่าเป็นหนึ่งในหุ้น value เช่นกัน
อัปเดทประเด็น EL
- ล่าสุด EL ได้ลงทุนในบริษัท DECIEM เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 76% จากเดิมที่ 29% โดย DECIEM เป็นบริษัท skincare ที่เป็นเจ้าของแบรนด์กว่า 10 แบรนด์ และสินค้ากว่า 50 สินค้า ครอบคลุมกว่า 15 ประเทศ ซึ่งนับว่าดีลในครั้งนี้จะหนุนให้ EL มีกำไรเพิ่มขึ้นในปีนี้และปี 2565 ต่อไป
- ประเภทสินค้าที่จำหน่ายของ EL ค่อนข้างหลากหลาย มี product lines กว่า 4 อย่าง ประกอบไปด้วยสกินแคร์, เครื่องสำอาง, น้ำหอม, ผลิตภัณฑ์เส้นผมและอื่น ๆ โดยจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ skincare สามารถสร้างรายได้ให้กับ EL ได้มากที่สุดที่ 52% ของรายได้รวมปี 2563
Source: Elcompanies.com
โดยหากเจาะลึกลงไปในแต่ละประเภทสินค้าที่จำหน่าย จะพบว่าในกลุ่ม skincare ยังคงเติบโตดีในหลาย ๆ ประเทศ นำโดย Estee Lauder และ La Mer ซึ่งโตได้ถึง 2 หลัก โดยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 รายได้จาก skincare โตกว่า 26% เทียบกับปีก่อน และยังมีแบรนด์อื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักและยังเติบโตได้ในช่วงวิกฤต ได้แก่ Origins, Dr. Jart+ สำหรับเครื่องสำอาง แบรนด์ภายใต้เครือ EL นั้น สร้างรายได้ลดลง ยกเว้นเครื่องสำอางแบรนด์ La Mer และ By Kilian แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ยั่งยืนและแบรนด์ที่แข็งแรงของ skincare และเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ La Mer อย่างไรก็ดี รายได้จากน้ำหอมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน นำโดย Estee Lauder และ Jo Malone
4. Marriott (MAR)
โรงแรมหรู จากสหรัฐฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบหนัก จากวิกฤตโควิด-19 หนึ่งในนั้นก็คือ โรงแรมแมริออท หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในนามโรงแรมหรูอันดับต้น ๆ ของโลก ธุรกิจ Marriott ดำเนินอยู่ในหลาย ๆ ประเทศและเป็นที่รู้จักดีมาเป็นระยะเวลานาน
ประเด็นอัพเดทที่น่าสนใจของ MAR
- MAR เปลี่ยน CEO คนใหม่มาเป็น Tony Capuano และประธานกรรมการ Stephanie Linnartz โดยคุณ Stephanie เผยอยากที่จะเน้นไปที่กลยุทธ์ทั่วโลกด้วยการสนับสนุน Marriott Bonvoy ซึ่งเป็น Loyalty program เพื่อให้ลูกค้าได้สะสมและแลกคะแนนที่ได้จากการเข้าพักในโรงแรมในเครือ Marriott โดยลูกค้าจะสามารถแลกคะแนน และได้รับสิทธิ์พักโรมแรมฟรี ส่วนลดที่พัก ฟรี Wi-Fi เป็นต้น
- เทรนด์การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาและมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอาจได้รับแรงหนุนจากความต้องการพักผ่อนของคนที่เริ่มเพิ่มขึ้น อีกทั้งรายได้จากจีนนั้น เป็นผู้นำในการฟื้นตัว ตามมาด้วยสหรัฐฯ และยุโรป เห็นได้จากยอดเข้าพักที่โรงแรม Marriott ในมณฑลไหหลำ ประเทศจีนฟื้นตัวแล้วกว่า 79% จากเดิมที่ 39% ภายใน 1 สัปดาห์หลังมาตรการถูกผ่อนคลายลง
- ในด้านของการลดต้นทุนของ Marriott นับว่ากลุ่มผู้บริหารค่อนข้างให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของพนักงาน การดำเนินงาน IT และ HR เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage) ที่สำคัญของกลุ่มธุรกิจการให้บริการ เช่น ธุรกิจการโรงแรม
5. PVH Corp. (PVH)
บริษัทเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง หลากหลายแบรนด์ของสหรัฐฯ
ไม่ว่าจะเป็น… Tommy Hilfiger, Calvin Klein, Van Heusen, IZOD, Arrow เป็นต้น
ความน่าสนใจของธุรกิจ PVH บริษัทผู้ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดังหลายแบรนด์
- ธุรกิจกระจายรายได้ในหลายประเทศ ซึ่งทำให้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นไตรมาสล่าสุดที่มีการเปิดเผยข้อมูล) ผลประกอบการยังคงออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จากการที่ยอดขายสินค้าจาก ประเทศจีนที่ยังคงโตได้กว่า 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดขายจากประเทศแถบยุโรปที่ลดลงจากปีก่อนเพียง 4% อีกทั้งการที่บริษัทเน้นจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางดิจิตัลมากขึ้น (digital channels) ในช่วงของวัน Black Friday และ Singles’ Day ในประเทศแถบสหรัฐฯและยุโรป ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ บริษัทสามารถปรับตัวจากธุรกิจแบบ brick and mortar ที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก ไปยังการจำหน่ายสินค้าและการทำการตลาดแบบดิจิตัลและแบบ omni-channel มากขึ้น จึงทำให้การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางดิจิตัลเติบโตสองหลักที่ 36% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- ในด้านการบริหารสินทรัพย์ภายในธุรกิจ ไตรมาส 3 ปี 2563 ระดับสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสินค้าคงคลังลดลง 16% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการที่บริษัทฯเร่งทำโปรโมชันมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาวและช่วงฤดูใบไม้ผลิ (Spring)
- มุมมองในอนาคตยังคงน่าสนใจ จากการที่ทาง CEO Stefan Larsson ยังคงมีมุมมองเน้นการเติบโตไปกับตลาดออนไลน์ อีกทั้งต้องการเพิ่มความสามารถด้านดิจิตัลและ omni-channel ด้วยเช่นกัน
จบแล้วนะคะ! สำหรับข้อมูลบริษัทที่น่าสนใจของ 5 แบรนด์ดังที่เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังจดทะเบียนบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ! ลงทุนได้…
สัปดาห์หน้าจะเป็นเรื่องอะไร รอติดตามนะคะ
📌 เปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศออนไลน์ง่าย ๆ สไตล์ BLS Global Investing ได้ที่ https://bls.tips/openglobalinvesting
📌 ติดตามรายงานการลงทุนต่างประเทศ คัดสรรสำหรับลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง “เนื้อหาอัดแน่นและจัดเต็ม” ทุกสัปดาห์ ในเมนู Global Research https://bls.tips/reportblsglobalinvesting
Source: Bloomberg, Yahoo Finance, as of 19/3/64