
Tips
สร้างผลงาน 9 เดือนของปี 2561 โดดเด่น โกยกำไรสุทธิ 181.71 ล้านบาท เกือบเท่ากับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 187.67 ล้านบาท คงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะทำให้ “นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล หรือ BCH (เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์) ยอมควักเงินซื้อ หุ้น เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN ผ่านกระดาน Big lot ติดต่อกัน 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน จาก “ตระกูลจักราจุฑาธิบดิ์” จำนวน 4 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13.30 บาท สูงกว่าราคาในกระดาน เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา และอีก 7 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 11.80 บาท เมื่อต้นเดือนธ.ค. 2561
ม้านอกสายตาอย่าง JKN ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของประเทศไทยสู่สากล และนำเข้าคอนเทนต์ชั้นนำจากต่างประเทศ มีอะไรดี ? ทำไมคุณหมอนักลงทุนถึงยอมควักเงินร้อยกว่าล้าน เพื่อครอบครองหุ้น JKN ที่เข้าประจำการณ์ตลาดหุ้นได้เพียง 1 ปี แม้จะหาคำตอบชัดๆจากคุณหมอเฉลิมไม่ได้ แต่ “เม่าจำไม By Bualuang Securities” จะมาแชร์ยุทธศาสตร์การเติบโต JKN เจ้าของกิจการคอนเทนต์พันล้าน ให้ฟัง...
เตรียมผลิตคอนเทนต์ข่าวป้อนเจ้าของสถานี...คุณธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ยืนยันหนักแน่นว่า เมื่อก่อน JKN เคยมีการพูดคุยกับเจ้าของช่วงทีวีดิจิทัลหลายๆช่อง รวมถึงช่อง Money Channel หลังปี 2560 บริษัทได้ลิขสิทธิ์ CNBC Thailand อายุ 10 ปี (ค่าลิขสิทธิ์ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทยอยจ่ายภายใน 10 ปี) เพราะมองว่า ช่องรายการเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งนี้จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่อง CNBC Thailand การพูดคุยกับช่อง Money Channel ในครั้งนั้น ก็มีตั้งแต่ JKN ผลิตคอนเทนต์ข่าวขายให้กับ Money Channel หรือ Money Channel มาซื้อลิขสิทธิ์ CNBC Thailand ต่อจาก JKN และสองบริษัทจับมือร่วมทุนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องล้มดีลไปเมื่อ 6 เดือนก่อน เพราะเรามีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน และไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกัน แต่หลังช่อง Money Channel ประกาศยุติการออกอากาศไปเมื่อปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทก็มีความสนใจจะนำเสนอรายการเกี่ยวกับการเงินการลงทุน เพื่อผลิตออกอากาศทุกแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนนี้ JKN กำลังสร้างสตูดิโอเป็นของตัวเอง เพื่อผลิต 4 รายการข่าวที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจและการลงทุน (ออกอากาศทุกวัน) โดยจะนำคอนเทนต์ดังกล่าวไปนำเสนอขายให้กับเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลต่างๆ คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 คงได้ข้อสรุปเรื่องลูกค้าที่มาซื้อคอนเทนต์ข่าว และภายในไตรมาส 2 ปี 2561 สตูดิโอและอุปกรณ์การออกอากาศมูลค่าประมาณ 40-50 ล้านบาท จะสามารถเปิดใช้งานได้ ไม่ต้องกลัว JKN จะซ้ำรอย Money Channel ผู้บริหาร JKN ยืนยันหนักแน่น JKN ไม่มีช่องข่าวข่าวเป็นของตัวเอง ฉะนั้นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายย่อมแตกต่างกับเจ้าของคอนเทนต์ที่มีสถานีเป็นของตัวเอง หลายคนได้ยินแบบนี้ อาจสงสัยว่า JKN ก็เป็นเจ้าของช่อง JKN DRAMAX ไม่ใช่หรอ?..... ต้นทุนในการทำคอนเทนต์ข่าวกับคอนเทนต์ซีรีส์แตกต่างกัน เพราะช่องซีรีส์ของเราออนแอร์ผ่านระบบดาวเทียมไม่ต้องมีต้นทุนค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและค่าโครงข่าย ที่สำคัญฐานลูกค้าก็แตกต่างกัน ช่องซีรีส์เน้นลูกค้าธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ที่เข้ามาเช่าพี้นที่โฆษณาเพื่อขายสินค้า CNBC Thailand จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับบริษัท ที่สำคัญยังกระจายความเสี่ยงของกลุ่มรายได้เพราะปัจจุบันรายได้ของบริษัทมาจาก 8 กลุ่มคอนเทนต์ หลักๆ มาจาก“เอเชียน แฟนตาซี” (Asian Fantasy) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์คอนเทนต์ประเภทซีรีส์ละคร และภาพยนตร์ จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน เป็นต้น โดยในช่วงปีแรกบริษัทต้องการเห็นรายได้กลุ่มคอนเทนต์ข่าวประมาณ 10% รูปแบบรายการ CNBC Thailand จะถอดแบบ CNBC แม่มาเป๊ะ ก่อนที่จะออกอากาศจริง เราต้องทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ต้องให้โปรดิวเซอร์ ทีมงานมานั่งพูดคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อทำรายการเสมือนจริง และให้เขาตรวจสอบว่า ใช้ได้หรือไม่ เราต้องทำอยู่แบบนี้นาน 2-3 เดือน “คอนเทนต์ข่าวไม่ได้ทำกำไรเยอะแยะ แต่ข่าวสามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่งานประเภทอื่นๆได้ เช่น จัดสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุน หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างคอนเน็คชั่นให้กับผู้ร่วมโครงการ เป็นต้น”

คุณพิสมัย ลิขิตอำนวย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ คุณธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี
JKN เป็นมากกว่าผู้นำเข้า-ส่งออก คอนเทนต์!!!คุณธีรภัทร์ เล่าว่า เจ้าของตัวจริง JKN “คุณจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” วางนโยบายชัดเจนว่า JKN ต้องไม่เป็นเพียงคนขายคอนเทนต์ แต่ต้องเป็นคนส่งออกวัฒนธรรมเมืองไทย ผ่านการนำลิขสิทธิ์ละคร และซีรีส์เมืองไทย ไปจำหน่ายให้กับต่างประเทศ เพราะคอนเทนต์เปรียบเหมือนประตูที่จะเปิดให้คนต่างชาติรู้จักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น จะว่าเราทำตามประเทศเกาหลีก็ได้ เพราะเขาประสบความสำเร็จจากการส่งออกวัฒนธรรมผ่านซีรีส์ จนกลายเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่ชาวไทย เมื่อเป้าหมายสำคัญของ JKN เป็นเช่นนั้น ตลอดปี 2561 เราเดินหน้านำละครไทยของช่อง 3 รวมถึงซีรีส์อินเดีย และซีรีส์ฟิลิปปินส์ ที่เราได้ลิขสิทธิ์ไปจำหน่ายให้กับกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้ในปี 2561 อาจมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกประมาณ 20-25% สเต็ปต่อไป JKN จะเดินหน้าส่งออกคอนเทนต์ที่มีอยู่ในมือไปในตลาดทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ต้องการมุ่งหน้าสู่การเป็น “โกลบอลคอมพานี” ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า วันนี้วางเป้าหมายชัดเจนว่า ในปี 2563 และปี 2564 ต้องมีสัดส่วนส่งออกเฉลี่ย 30-35% และ 40-50% ตามลำดับ พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแรงและเร็ว ฉะนั้นต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องมองหาเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลี และอินเดีย มาจำหน่ายให้กับช่องดิจิทัลต่างๆ ล่าสุดได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ฟิลิปปินส์มาขายให้กับลูกค้า ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ เชื่อว่าจะได้รับการรตอบรับอย่างดี “ภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2561-2563) JKN จะต้องเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี” คุณธีรภัทร์ ยืนยันเป้าหมาย รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า JKN อาจเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่แฟนคลับซีรีส์เกาหลี อินเดีย และฟิลิปปินส์ แต่ในมุมของนักลงทุน หุ้น JKN ยังไม่เป็นที่รู้จักดีพอ เรื่องนี้เรารับรู้มาตลอด หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า JKN มีรายได้หลักมาจากการขายเวลาโฆษณา ทั้งที่ในความเป็นจริง เรามีรายได้จากการขายโฆษณาแค่ 4% จากช่อง JKN DRAMAX ซึ่งรายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ในช่วงที่ผ่านมา JKN จึงพยายามเดินสายโรดโชว์ เพื่อพบนักลงทุนให้มากขึ้น เราต้องการปรับความเข้าใจนักลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเรา “JKN ทำธุรกิจปลายทาง หลายช่องซื้อซีรีส์ของเราไปฉาย เพราะต้นทุนต่ำกว่าการที่เจ้าของสถานีผลิตรายการเอง เรามีซีรีส์ทุกเกรด ตั้งแต่สารคดียันตลก ลูกค้าสามารถเลือกช้อปได้ตามกำลังทรัพย์ นอกจาก JKN จะเป็นคนขายคอนเทนต์แล้ว เรายังช่วยลูกค้าวางผังรายการด้วย” สัปดาห์หน้า “เม่าจำไม By Bualuang Securities” จะมาเล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีก รอติดตามนะคะ....