
สรุปสัมมนาเศรษฐกิจและตลาดหุ้นฮ่องกง : ขี่พายุทะลุฟ้า ฝ่ามรสุมมังกรจีน
จบไปแล้วกับงานสัมมนาออนไลน์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ จากทีม BLS Global Investing ในหัวข้อ “เศรษฐกิจและตลาดหุ้นฮ่องกง : ขี่พายุทะลุฟ้า ฝ่ามรสุมมังกรจีน” ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล ซึ่งคัดสรรมาเพื่อนักลงทุนโดยเฉพาะ
ใครที่ดูไม่ทัน ไม่ต้องเสียใจนะคะ วันนี้เราได้นำประเด็นที่น่าสนใจจากงานสัมมนามาฝากนักลงทุนกันค่ะ
งานนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญกิตติมศักดิ์ คุณสิทธิชัย จิวัฒน์ธนากุล SVP และผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาฮ่องกง ผู้มีประสบการณ์ทำงานจริงมากกว่า 15 ปี ในกลุ่ม Greater China ทั้งในประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง พร้อมด้วย คุณรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส กูรูหุ้นต่างประเทศ จากหลักทรัพย์บัวหลวง
ในช่วงแรกของสัมมนา คุณสิทธิชัย ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาฮ่องกง ซึ่งเป็นธนาคารกรุงเทพ สาขาแรกในต่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ. 2497 ในช่วงแรกเน้นธุรกิจด้านการลงทุนต่างประเทศ (International Trading) เชื่อมการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ จนกระทั่งประเทศจีนเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 ธุรกิจจึงได้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกงถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการลงทุนต่างประเทศกับประเทศจีน โดยสามารถเรียกได้ว่าเป็นประตูสู่ผ่านถึงประเทศจีน นั่นเอง
และแล้วก็มาถึงช่วงสำคัญของสัมมนาด้วย 7 ประเด็นน่าสนใจ ที่จะพานักลงทุนไปเจาะลึก ภาพรวม มุมมองทางเศรษฐกิจ ค่าเงิน และรวมถึงโอกาสในการลงทุนผ่านตลาดหุ้นฮ่องกง 🤩
- มุมมองเศรษฐกิจฮ่องกงและจีน
คุณสิทธิชัย เล่าว่า เศรษฐกิจฮ่องกงนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนมาตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 จากรูปด้านบนจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโต GDP ของฮ่องกงและจีนนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการเติบโตของฮ่องกงหลายๆอย่างนั้นมีปัจจัยมาจากประเทศจีน ซึ่ง GDP ที่เติบโตขึ้นหนุนจากภาคการค้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนำเข้าและส่งออก ซึ่งคู่สัญญาส่วนมากล้วนเป็นประเทศจีนทั้งสิ้น ที่สำคัญยังรวมไปถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ทำให้จนถึงปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2564) ปริมาณการลงทุนในฮ่องกงโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งทางฮ่องกงยังคงรักษาจุดแข็งของประเทศ ที่เป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” โดยตลอดมา
อย่างไรก็ดีในช่วงมิถุนายน ปี พ.ศ. 2562 ฮ่องกงกลับพบปัญหาจากเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาที่มีการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงติดลบ โดยลดลง -2%YoY ภายในครึ่งปี อีกทั้งในปี พ.ศ. 2563 ก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงธุรกิจสายการบิน ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงติดลบถึง -6%YoY
ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2564) สถานการณ์โควิดในฮ่องกงเริ่มบรรเทาลง หลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีน ส่งผลให้ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 64 และเหตุการณ์การประท้วงก็ได้คลี่คลายหลังมีกฎหมายออกมารองรับ และมีการลงโทษทางกฎหมายต่อผู้ที่ก่อความไม่สงบ จึงทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 โต 7.5%YoY
Sources: BLS Global Investing, BBL HK, IMF,TradingEconomics, Bloomberg as of 10/08/2021
- หลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในฮ่องกง ยังใช้ได้อยู่หรือไม่
ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้นำนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” เข้ามาปกครอง ทำให้ฮ่องกงนั้นมีระบบกฎหมายเป็นของตัวเอง โดยจีนจะไม่สามารถเข้ามาออกคำสั่ง หรือใช้อำนาจใดๆมาก้าวก่ายการบริหารของฮ่องกงได้
ตามกฎหมายพื้นฐานที่ใช้ปกครองและบริหารฮ่องกง ที่สภาประชาชนจีนอนุมัติและประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ฮ่องกงยังคงเป็นของจีนอยู่ในปัจจุบัน และหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ก็ยังมีการนำมาปรับใช้อยู่
โดยคุณสิทธิชัย ได้มีการเสริมต่อด้วยว่า หลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับฮ่องกงอย่างมาก เห็นได้จากหลายๆนโยบายที่รัฐบาลจีนออกมา เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของฮ่องกง เช่น กฎหมายความมั่นคงที่ออกมาเมื่อช่วงต้นปี 64 เป็นต้น มากไปกว่านั้นหลักการนี้ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงในระยะยาว ว่าในอนาคตประเทศจีนก็จะยังคงประคับประคองฮ่องกงต่อไป ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงินและภาคการลงทุนมากกว่าที่จะเป็นความเสี่ยง
- Greater Bay Area ยังเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจฮ่องกงอยู่หรือไม่
China’s Greater Bay Area คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกประกอบด้วย ฮ่องกง, มาเก๊า และ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ เซินเจิ้น, กวางโจว, จูไห่, ฝอซาน, จ้าวชิง, เจียงเหมิน, ฮุ่ยโจว, จงซาน และ ดงกว่าน
เนื่องจากฮ่องกงมีจำนวนประชากรราว 7,496,981 คน และมีรายได้หลักมาจากภาคบริการ ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ Greater Bay Area จึงมีความสำคัญต่อฮ่องกงในการขยายเศรษฐกิจ โดยเป็นการรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมาเก๊า และมณฑลหลักในกวางตุ้งเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเมือง นวัตกรรมและวัฒนธรรมต่างๆ ที่จะดึงดูดเงินลงทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคต ยิ่งสนับสนุนบทบาทการเป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” ของฮ่องกงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย
Sources:BBC, HSBC Research
- ค่าเงินฮ่องกงดอลลาร์ (HKD) ยังถือได้ ปลอดภัยไหม
ช่วงการประท้วงของนักศึกษา รวมไปถึงกระแสที่ฮ่องกงมีความต้องการที่จะแยกออกจากประเทศจีน ในช่วงปี พ.ศ. 2562 เป็นปัจจัยสร้างความกดดันและความตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดีฮ่องกงถือเป็นฐานการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิกเงินสกุล ฮ่องกงดอลลาร์ (HKD) เนื่องจากยังคงใช้เงินสกุลดังกล่าวในการทำธุรกรรมการชำระราคาการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Settlement)
นอกจากนี้คุณรัฐศรัณย์ ยังมองว่าเงินสกุล ฮ่องกงดอลลาร์ (HKD) นั้นมีเสถียรภาพเนื่องจากเป็นสกุลเงินที่ผูกกับเงินสกุล ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และยังหนุนให้การลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงให้มีเสถียรภาพเช่นกัน ด้วยสกุลเงินที่ใช้ซื้อขาย และยังมองว่าการลงทุนในหุ้นจีนผ่านตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าสำหรับนักลงทุน
Sources: BLS Global Investing, BBL HK
- ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในฮ่องกงเป็นอย่างไร
ตั้งแต่มิถุนายน 2563 ฮ่องกงประสบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 มาทั้งหมด 3 ระลอก ทำให้รัฐบาลมีการเร่งฉีดวัคซีน พร้อมออกมาตรการการรับมือต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศกลับมาฟื้นตัว ซึ่งหลายหน่วยงานก็ได้ร่วมมือช่วยกัน อย่างกลุ่มธุรกิจเอกชนรายใหญ่หลายราย ก็ได้ออกมาสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน เพื่อหนุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
จนในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ได้บรรเทาลง โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก และการรายงานผู้ติดเชื้อใหม่แทบจะเป็นศูนย์ ส่งผลให้คนฮ่องกงเริ่มกลับมาเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในประเทศมากขึ้น โดยตัวเลข Consumption GDP ฮ่องกง จากกราฟในรูปล่าง ฟื้นตัวขึ้น หลังคนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หนุนเงินไหลเวียนภายในประเทศมากขึ้นเช่นกัน
อีกทั้งรัฐบาลก็ได้ช่วยอัดฉีดเงินให้กลุ่ม SMEs มาตั้งแต่ปี 2563 และยังมีการแจกเงินให้ประชาชนทุก ๆ ปีเพื่อให้เงินเดินในระบบได้ ซึ่งเข้ามาส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก อย่างไรก็ดีในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยว, โรงแรม และสายการบินนั้นยังเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักอยู่
Sources: BLS Global Investing, BBL HK, Google, JHU CSSE COVID-19 Data
- ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอเชียหรือไม่
ฮ่องกงยังคงเน้นบทบาทในการเป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” โดย 78 ใน 100 ธนาคารชั้นนำของโลกหลายแห่ง เปิดให้บริการและทำธุรกิจในประเทศฮ่องกง รวมไปถึง 75% ของการชำระเงินต่างประเทศในสกุลเงินหยวนยังเกิดขึ้นในฮ่องกง อีกทั้งฮ่องกงยังมีตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในแง่ของ Market Capitalization และมีขนาดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียด้วย
- ทางเลือกการลงทุนในฮ่องกง
หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้เข้ามาปราบปรามหลายอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้หุ้นของบริษัทชั้นนำหลายแห่งได้รับผลกระทบและยังเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นให้ปรับลงในช่วงที่ผ่านมา
คุณสิทธิชัยได้เผยมุมมองว่า รัฐบาลจีนมีจุดประสงค์ที่จะกำจัดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจให้หมดไปจากประเทศ โดยยกตัวอย่างการที่รัฐบาลจีนทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อที่จะกระจายความเจริญออกไปในหลายๆพื้นที่
โดยปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน อย่าง Alibaba หรือ Tencent เติบโตขึ้นและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองยังไม่อยากเห็นบริษัทเทคโนโลยีของประเทศตัวเองเป็นแบบบริษัทเทคฯเจ้าใหญ่อย่างในประเทศสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่มากจนดูดกลืนคู่แข่งรายอื่นเพื่อครองตลาดเพียงลำพัง
ซึ่งการออกกฎคุมเข้มครั้งนี้ ทางรัฐบาลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะจัดระเบียบให้ธุรกิจมีความเสมอภาคกัน ไม่อยากให้ใครโตเร็วกว่าใคร แม้ว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทเทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกันก็จะง่ายต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งจีนไม่ต้องการให้ข้อมูลของประเทศตัวเองตกไปอยู่ในมือของประเทศอื่นมากนัก อีกทั้งรัฐบาลจีนยังมองถึงการเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วฉาบฉวย และในระหว่างทางก็สามารถแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำของประเทศไปได้ด้วย
คุณรัฐศรัณย์จึงได้จำแนกแนวทางการลงทุน ดังนี้
หุ้น First Tier
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องกฏเกณฑ์ในจีนมากที่สุด ส่งผลให้ราคาหุ้นมีการปรับฐานลงลึก แต่อาจมองได้ในเชิง Risk to Reward เนื่องจากราคาหุ้นลงมาลึกพอสมควร เช่น
บริษัทธุรกิจ E-Commerce ระดับโลกถือเป็นคู่แข่ง Amazon (AMZN) โดยกำไรมีอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 20% มาตลอด และยังโตต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสล่าสุด (1Q22) ที่ 17.4% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า และ 10.25% เทียบไตรมาสก่อน (4Q21) แตะ 45.7 พันล้านหยวน ด้านรายได้อยู่ที่ 205.7 พันล้านหยวน โต 33.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2563 และ 9.8% เทียบกับช่วงไตรมาสก่อน หนุนโดยทั้งธุรกิจหลักในส่วนของ E-Commerce และ ธุรกิจ Cloud อย่างไรก็ดียังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม หลังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้เข้ามาปราบปรามอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นอยู่ หากยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเผยออกมา
หุ้น Second Tier
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องกฏเกณฑ์ในจีนน้อยกว่ากลุ่มอื่น กล่าวคือ หุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มการทำธุรกิจผูกขาด (Monopoly) ,ความปลอดภัยทางข้อมูล (Data security) หรือ ผลประโยชน์ทางสังคม (Social benefit) เช่น
- AIA
Sources: BLS Global Investing, Bloomberg as of 10/08/2021
กลุ่มบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยปัจจุบัน AIA ถือเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) ในด้านเบี้ยประกันภัยรับมาจากธุรกิจประกันชีวิต และเป็นผู้นำตลาดโดยส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยบริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ในการออมเงินและความคุ้มครองชีวิตแก่ลูกค้าบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย
สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มูลค่าของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการขายกรมธรรม์เข้ามาใหม่ (Value of New Business: VoNB) อยู่ที่ 1,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 22% ซึ่งหากกรมธรรม์ที่บริษัทจำหน่ายอยู่นั้นคาดว่าจะมีผลกำไร การที่สามารถจำหน่ายกรมธรรม์เข้ามาใหม่จำนวนมาก ก็จะทำให้มูลค่าของบริษัทนั้นมีค่าสูงขึ้น มากไปกว่านั้นในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา AIA ถือเป็นหุ้นที่โดดเด่นในดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng Index) หุ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้
ETF หรือ กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
การลงทุนทางเลือกนอกเหนือจากหุ้นสำหรับผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงในการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนในช่วงนี้ เราได้นำ ETF เด่นน่าสนใจมาฝากนักลงทุนทุกท่านค่ะ
- ChinaAMC CSI 300 Index ETF
ประกอบไปด้วยหุ้น A-Share ชั้นนำ 300 ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิน อาทิเช่น
KWEICHOW MOUTAI กุ้ยโจว เหมาไถ ผู้ผลิตสุราชื่อดังของประเทศจีน โดยทำธุรกิจผลิตสุราเหมาไถโดยเฉพาะ และยังได้ถูกยกย่องเป็น “สุราประจำชาติของจีน” เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ในงานเลี้ยงรับรองแขกระดับประเทศเป็นประจำ
CHINA MERCHANTS BANK ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ถือหุ้นโดยนิติบุคคลในประเทศจีน โดย China Merchants Bank เติบโตขึ้นจากธุรกิจรายย่อย เช่น บริษัทบัตรเครดิต กิจการขนาดกลางรวมถึงขนาดเล็ก
PING AN INSURANCE GROUP บริษัท Holdings ที่มีบริษัทย่อยทำธุรกิจประกัน การเงิน และหลักทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน
Fx: THB/HKD 4.30 / Sources: HKEX as of 10/08/2021
- Premia China STAR50 ETF
ประกอบไปด้วยหุ้น A-share 50 ตัวแรกบนกระดาน Star ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนแล้วเป็นบริษัทผู้นำในเศรษฐกิจใหม่ของจีน อาทิเช่น
SMIC (Semiconductor Manufacturing International Corp.) บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผู้พัฒนาอินเทอร์เน็ต 5G รายใหญ่ของโลก โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบไปด้วยเช่น ชิป แผงวงจร เป็นต้น ซึ่งบริษัท Huawei เป็นลูกค้าหลักของบริษั
Montage Technology บริษัทผลิต เซมิคอนดักเตอร์ชิป สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เช่น กล้องดิจิทัลสมาร์ทโฟนและรถยนต์อัจฉริยะ ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีรุ่นใหม่
Transsion Holdings บริษัทผลิตโทรศัพท์สัญชาติจีนที่ลงทุนในแอฟริกามาหลายปี และตั้งโรงงานผลิตโทรศัพท์ในเอธิโอเปีย ด้วยยอดขายกว่า 200 ล้านเครื่อง และมีส่วนแบ่งตลาดเฉพาะในภูมิภาคแอฟริการาว 30%
Fx: THB/HKD 4.30 / Sources: HKEX, Premia Partners as of 10/08/2021
ในช่วงปิดท้ายสัมมนา คุณสิทธิชัยได้ปิดท้ายถึงมุมมองเศรษฐกิจฮ่องกงว่า ปัจจุบันไม่มีอะไรที่น่ากังวล เนื่องจากฮ่องกงยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายธุรกิจของจีน อย่างไรก็ดีธนาคารเองก็มีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจฮ่องกงในระยะยาว พร้อมเสริมว่า ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพเองนั้นมีแผนที่จะขยายธุรกิจต่อโดยจะมีฮ่องกงเป็นฐานช่วยสนับสนุนด้วย แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจฮ่องกงนั้นยังคงสำคัญและสามารถเติบโตต่อไปได้
ฟังสัมมนาฉบับเต็ม ย้อนหลังได้ผ่าน Bualaung iChannel หรือ Facebook: bualuangsec
ไม่อยากพลาดสัมมนาดีๆแบบนี้….เพียงเปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศ กับ BLS Global Investing ได้ที่ https://bls.tips/openglobalinvesting
ขยายวันโอนเงินไปต่างประเทศกับหลักทรัพย์บัวหลวง ฟรี! ค่าธรรมเนียมโอนเงิน ทุกวันอังคาร และ วันพุธตลอดวัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://bls.tips/globalinvesttransfer