
Tips
โชคชะตาฟ้าลิขิต!!คุณบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสครบวงจร ตอบคำถามที่ว่า ยึดอาชีพราชาเงินผ่อนในองค์กร 130 ปีอย่างซิงเกอร์ประเทศไทย มายาวนานแล้วมีประสบการณ์ร้านอาหารจากที่ไหน ? “ตอนทำงานอยู่ในซิงเกอร์ ผมต้องเดินทางไปดูสาขาตามต่างจังหวัดเป็นประจำ ทำให้คุ้นเคยกับรากหญ้าเป็นอย่างดี ผมไม่ต่างจากเชลล์ชวนชิม หรือมิชลินสตาร์ เพราะแต่ละสาขาจะอยู่ตามหมู่บ้านตามอำเภอ ทำให้มีโอกาสได้ตระเวนชิมอาหารประจำท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อความอร่อย แต่ไม่มีใครรู้จักบ่อยๆ โดยมีลูกน้องเป็นคนนำทาง ทำให้รู้จักเส้นทางของนักชิมอาหารพื้นบ้านจนคนรอบตัวที่ต้องการชิมอาหารอร่อยตามภาคต่างๆ ในเมืองไทยต้องคอยมาถามผมตลอด”

ZEN เลือกวิธีการขยายอาณาจักรทั้งในและนอกประเทศ ในลักษณะ “ไฟลามทุ่ง” ด้วย “รูปแบบแฟรนไชส์”ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ คือ ร้าน ZEN (ZEN Restaurant), ร้านมุฉะ (MUSHA), ร้านอากะ (AKA), ร้านออน เดอะ เทเบิ้ล (On the Table), ร้านเท็ตสึ (Tetsu) และร้านซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ (Sushi Cyu & Carnival Yakiniku) ขณะเดียวกันยังเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยด้วย คือ ร้านตำมั่ว, ร้านลาวญวน, ร้านเฝอ, ร้านแจ่วฮ้อน, ร้านเดอตำมั่วและร้านเขียง โดยแต่ละแบรนด์มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองและหลายๆ แบรนด์ เราเลือกขยายตัวผ่านรูปแบบการขายแฟรนไชส์ เช่น “ร้านตำมั่ว” อาหารไทย-อีสาน ด้วยความที่ใช้พื้นที่เพียง 50-100 ตารางเมตร และเป็นอาหารที่ทานได้ทุกวันทุกมื้อ ทำให้ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี ล่าสุดได้สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาชื่อ “เขียง” ร้านอาหารไทยตามสั่ง หรืออาหารจานด่วน ที่ทำกันแบบสดๆ ร้อนๆ 15 เมนูหนัก เน้นข้าวกระเพรา 60% เพราะจากการทำวิจัยพบว่า เป็นอาหารยอดฮิต วันนี้เปิดตัวแล้ว 3 แห่ง ยอดขายไม่เยอะมาก แต่ต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับร้านขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนเปิดร้านมากถึง 6 ล้านบาทต่อสาขา แต่ถามว่าทำไมแฟรนไชส์แบรนด์นี้ขายได้ เพราะเราคิดแบบซิงเกอร์ คือ ผู้ซื้อสามารถผ่อนค่าแฟรนไชส์ประมาณ 4 แสนบาทได้ แถม ZEN ยังจัดหาโลเคชั่นให้อีกด้วย ที่ทำแบบนี้ เพราะในประเทศไทยมีพื้นที่มหาศาล แต่จะให้บริษัทตะลุยทำเองทุกพื้นที่คงไม่ไหว วันนี้ ZEN วางตำแหน่ง “เขียง” เป็นเหมือน “ปิ่นโตหมู่บ้าน” หมายความว่า ต้องขายให้ได้ทุกวัน “ภายในปี 2562 อยากเห็นแฟรนไชส์ร้านเขียง 40 แห่ง แต่ช่วงครึ่งหลังจะทบทวนอีกครั้งว่า มีโอกาสไปถึงร้อยสาขาหรือไม่ ส่วนแผน 5 ปีข้างหน้า อยากเห็น 1 พันสาขา ฝันดูยิ่งใหญ่ แต่การลงทุนในพื้นที่ขนาดเล็กต่อหนึ่งสาขา และเป็นอาหารสตรีทฟู้ด คงไม่ใช่เรื่องยาก”
รุกธุรกิจเดลิเวอรี่!!!เมื่อผู้บริโภคไม่มาหาเรา เราต้องไปหาเขา คุณบุญยง บอกอย่างนั้น วันนี้ธุรกิจอาหารหมดยุค Walk-in แล้ว แต่มันเป็นยุคแคนวาส (CANVAS) คือ ไปหาผู้บริโภคให้ใกล้ที่สุด ออกจากบ้านแล้วต้องมาถึงเราเร็วที่สุด ถ้าทำไม่ได้ต้องเชื่อมด้วย “ระบบเดลิเวอรี่” เราต้องย่อตัวเองเข้าไปอยู่ในแอปพลิเคชั่นให้ได้... เพราะสุดท้ายแล้วร้านอาหารจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นร้านสะดวกทาน และจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ฉะนั้นหากอยากชนะร้านสะดวกซื้อ ต้องเอาความสดใหม่ จานต่อจานมาเรียกลูกค้า วันหนึ่งอาจเห็นร้านเราประกบข้างร้านสะดวกซื้อก็เป็นได้ อยากให้ผู้บริโภคจดจำเรา เหมือนจำร้านกาแฟ Amazon หรือ เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นต้น เมื่อปลายปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มรุกให้บริการเดลิเวอรี่กับสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง คือ ZEN, On The Table และตำมั่ว ผ่านแอปพลิเคชั่นผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร 4 ราย ประกอบด้วย Food Panda, Line Man, Grab Food และ Honestbee รวมถึงติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารแต่ละสาขา ผลปรากฏว่า ได้ผลตอบรับที่ดี เลยวางแผนจะเพิ่มจำนวนร้านอาหารที่ให้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น “ช่องทางเดลิเวอรี่มีโอกาสเติบโตมากในอนาคต หลังมีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก คาดว่าภาพรวมธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร ภายในปี 2565 น่าจะเติบโต 2 เท่า จากปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท” คุณบุญยง ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า เราพยายามขยายตัวไปสู่ทุกหมวดหมู่อาหาร เน้นอาหารราคาไม่สูงและทานได้ง่าย หากพัฒนาแบรนด์ไม่ทันก็ต้องซื้อ และจะพยายามคืนทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ให้ได้ภายใน 2 ปี ช้าสุดไม่ควรเกิน 3 ปี ส่วนเรื่องโกอินเตอร์จะเน้นแถบอาเซียน ที่ผ่านมาได้ขายแฟรนไชส์ไปในประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว เช่น พม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น
“ZEN ยังคงมองหาแบรนด์ใหม่ต่อเนื่อง อาหารอะไรที่ยอดนิยม เราต้องออกไปแสวงหา”“เม่าจำไม By Bualuang Securities” จะมาเล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีก รอติดตามนะ
Tips
Global
DR01
สอนลงทุน
Tips
Tools
สอนลงทุน
สอนลงทุน
Tools
Tips
Tips
สอนลงทุน