
Tips

ว่าแต่กลยุทธ์ใหม่ดันฐานะเติบโตของร้านขนมหวานชื่อดังจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร? “เม่าจำไม By Bualuang” จะเล่าให้ฟัง...ก่อนจะขยายไฮไลท์สำคัญของปี 2561 มาลองย้อนดูความเคลื่อนไหวตลอดปี 2560 ของ “อาฟเตอร์ ยู” จะพบว่า บริษัททำได้ตามคำสัญญา หลังสามารถเดินหน้าขยายสาขาใหม่ได้ตามแผน ทั้งในฝั่งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไล่มาตั้งแต่สาขาเมืองทองธานี ,รพ.กรุงเทพ,เอสพลานาด ,เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ,เดอะ พรอมานาด เซ็นทรัลบางนา เซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสาขาโคราช ถือเป็นสาขาต่างจังหวัดแห่งแรกของ AU

( AU Roadshow @ Bualuang ณ Bualuang Investment Station )
ขณะเดียวกันยังประสบความสำเร็จ จากการนำสินค้า ภายใต้ร่มเงาของ AU ไปชิมลางตลาดต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนก.ย.2560 มีโอกาสไปร่วมงาน Thai Festival Thai ซึ่งเป็นงานนำเสนอสินค้าและไลฟ์สไตล์ไทยระดับพรีเมียมที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์และภาคเอกชนร่วมกันจัดขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีโอกาสเข้าไปทดลองขายสินค้าในประเทศมาเลเซียด้วย นอกจากนั้นเมนูใหม่ตลอดปี 2560 อย่าง kakigori รสชาเขียว ,Durian Crumbstick ไอศกรีมที่มาในรูปลักษณ์ของทุเรียน ,Christmas Dark Forest Toast โทสต์ดาร์กช็อกโกแลต และกระท้อนปั่น เป็นต้น ยังได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้า แถมบริษัทยังสามารถบริหารต้นทุนให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้อีกด้วย ปิดท้ายปี 2560 กับเรื่องเซอร์ไพรส์สุดๆ หลัง AU ประกาศจับมือกับ “ร้านกาแฟแบรนด์ดังสตาร์บัคส์” ด้วยการนำเมนูของหวานยอดฮิตอย่าง Shibuya Honey Toast และ Chocolate Brownie with Vanilla Ice Cream เข้าไปทดลองขายในร้านสตาร์บัคส์ ชิมลางสาขาแรกที่ Mega Bangna ข่าวดีส่งท้ายปีได้หนุนให้ราคาหุ้น AU เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2560 (วันที่มีข่าวความร่วมมือกับสตาร์บัคส์) พุ่งพรวดขึ้นไปแตะจุดสูงสุด 15.30 บาท ก่อนจะดีดขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งในวันต่อมาที่ระดับ 15.40 บาท หลังมีปริมาณรวมและมูลค่ารวมหนาแน่นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยนักลงทุนหลายคนเชื่อมั่นว่า โมเดลนี้จะเข้าไปอยู่ในทุกๆสาขาของสตาร์บัคส์ แต่ราคาหุ้นคึกคักได้ไม่นานราคาก็ค่อยๆ ปรับลดลง ก่อนจะดีดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารประกาศโมเดลใหม่ล่าสุด ...
(ที่มา : บทวิเคราะห์ฉบับวันที่ 7 ก.พ.2561 แนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" ราคาเป้าหมายพื้นฐาน 15 บาท)
“ขยายฐานต่างจังหวัด” แผนเคลื่อนตัวปี 2561คุณแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู เล่าให้ฟังว่า ในปี 2561 จะเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ในลักษณะ Full scale model อีก 10 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดฝั่งละ 5 สาขา หลังเข้าไปชิมลางในศูนย์การค้า เดอะมอลล์โคราช แล้วพบว่า คนโคราช ก็ชอบทานขนมหวานไม่แพ้คนกรุงเทพฯ ตามแผนงานตั้งแต่เดือนมี.ค.2561 บริษัทจะเดินหน้า “รุกตลาดต่างจังหวัด” มากขึ้น ไล่มาตั้งแต่ เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ต และพัทยา เป็นต้น รูปแบบการขยายสาขา เน้นเปิดในศูนย์การค้าที่มีโอกาสในการเติบโตต่อเนื่อง ถ้าเป็นไปได้จะพยายามเปิดอย่างน้อย 2 สาขาต่อ 1 จังหวัด โดยจะไม่เปิดสาขาแรกและสาขาสองในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งกลยุทธ์นี้ ถือเป็นตัวช่วยที่ดีทางหนึ่งในการบริหารต้นทุน “ราคาสินค้า ความสดของวัตถุดิบ และคุณภาพพนักงาน ทุกสาขาเท่าเทียมกันหมด” คุณแม่ทัพ ยืนยัน ส่วนแผนงานเปิดสาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล ปัจจุบันเราได้พื้นที่ในการเปิดสาขาครบเรียบร้อยแล้ว โดยสาขาแรกของปีนี้ (สาขาที่ 28) เปิดไปแล้วที่สนามบินดอนเมือง ส่วนสาขาที่ 2 จะเปิดที่อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่ข้างร้านกาแฟแบรนด์สตาร์บัคส์ ตามต่อด้วยสาขาเซ็นทรัลพระราม 2 ,สาขาโครงการ Whizdom สุขุมวิท 101 ซึ่งเรายังไม่เคยมีสาขาช่วงสุขุมวิทตอนใต้ ส่วนอีกสาขาอยู่ระหว่างดำเนินการ “เราไม่มีปัญหาในการขนส่งวัตถุดิบไปสาขาโคราช เพียงแต่ต้องบริหารให้ดีๆ เพราะไม่อยากขนวัตถุดิบไปต่างจังหวัดถี่เท่ากรุงเทพฯ เพราะค่าโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง ฉะนั้นเราจำเป็นต้องลดรอบส่งแล้วเพิ่มขนาดพื้นที่ให้สามารถจัดเก็บวัตถุดิบได้มากขึ้น”
“Take away model” สตอรี่ใหม่แกะกล่องอาฟเตอร์ ยู เตรียมทดลอง “Take away model” สาขาแรกใน อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ คุณแม่ทัพ กล่าวยืนยัน โดยสาขาลักษณะนี้ อาจมีที่นั่งให้ลูกค้าเพียงไม่กี่โต๊ะ หรืออาจไม่มีเลยสำหรับสาขาพื้นที่น้อย ซึ่งขนมหวาน น้ำแข็งใส และเครื่องดื่มต่างๆ จะถูกเตรียมไว้ในภาชนะที่สามารถเดินถือทานได้ หากสาขาแรกได้รับผลตอบรับดีจากลูกค้า นั่นหมายความว่า เราเดินมาถูกทาง ปัจจุบันเมืองไทยยังมีพื้นที่ในลักษณะที่ไม่พร้อมจะเปิดสาขาแบบ Full scale model อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตามออฟฟิศบิลดิ้ง หรือสถาบันการศึกษา อย่างย่านอโศก ก็มีพื้นที่ลักษณะนี้ค่อนข้างมาก จุดเด่นของ “Take away model” คือ 1.ใช้พื้นที่น้อย 2.จำหน่ายเพียงสินค้าขายดี 3.วัสดุใช้แล้วทิ้ง 4.ใช้พนักงานไม่มาก และอุปกรณ์น้อยชิ้น และ 5.สินค้าบางชนิดอาจขายในราคาถูกกว่าโมเดล Full scale model “หัวใจหลักของ Take away model คือ ทำให้เร็ว สะดวกในการทาน ถ้าผลออกมาดี เราจะขยายตัวสาขาในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

( AU Roadshow @ Bualuang : ทีมนักวิเคราะห์จากหลักทรัพย์บัวหลวง)
กลยุทธ์ Co-branding ช่วยเพิ่มฐานรายได้กรรมการผู้จัดการ ยืนยันว่า ธุรกิจที่สนุกและตอบโจทย์ในทุกด้าน คือ “การได้ทำงานร่วมกัน” อย่างบางแบรนด์ที่มีกิจการดีอยู่แล้ว แต่อาจขาดจุดแข็งบางอย่างที่เรามี ฉะนั้นหากได้ทำงานด้วยกันก็คงแฮปปี้กันทั้งคู่ ยกตัวอย่าง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราได้จับมือกับร้านกาแฟแบรนด์สตาร์บัคส์ ด้วยการนำขนมหวานเข้าไปจำหน่ายใน 2 สาขา ซึ่งผลการตอบรับออกมาดีมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นตลอดปี 2561 คงเห็นเรานำสินค้าเข้าไปจำหน่ายอีก 6-8 สาขา เน้นกรุงเทพฯ เป็นหลัก “วัตถุดิบที่ส่งไปตามสาขาของสตาร์บัคส์จะมีหน้าตาเหมือนกับสาขาของ AU แต่รสชาติอาจไม่เหมือนเป๊ะ เพราะอุปกรณ์บางชนิดของเขาไม่เหมือนของเรา” นอกจากจะร่วมมือกับร้านกาแฟแบรนด์ดังแล้ว ปัจจุบันเราได้เจรจากับผู้ประกอบการอีกหลายราย ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวอยู่เพียงธุรกิจกาแฟ และวันนี้เจ้าของธุรกิจหลายๆเจ้า ก็เริ่มมีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกันกับเราแล้ว แต่ละเจ้ามีความโดดเด่นในสิ่งที่ตัวเองทำ เพียงแต่ต้องการจุดแข็งของเราไปช่วยเสริมเท่านั้น บริษัทกำลังพัฒนาขนมแบบ Ready-to-bite (เช่น คุกกี้ และขนมอื่นๆ) คาดว่าจะวางขายในร้านหรือตามตลาดทั่วไปได้เร็วๆนี้ ส่วนเมนูพิเศษประจำเดือนก.พ.คือ Kiss Kiss NomYen Kakigori และไอศกรีมรส strawberry biscuit ส่วนเมนูยอดฮิตตามฤดูกาล Mango Sticky Rice Kakigori และ Mayongchid Frappe ก็จะกลับมาขายอีกครั้งในไตรมาส 2 ปี 2561
สยายปีกสู่ “ตลาดต่างประเทศ”หลายคนสอบถาม AU ว่า มีแผนเจาะตลาด CLMV หรือไม่? คุณแม่ทัพ ตอบคำถามนี้ว่า ที่ผ่านมามีคนติดต่อเข้ามาเยอะมาก แต่จากการศึกษาพบว่า ประเทศมาเลเซีย มีความเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้ เพราะในเรื่องการบริโภคอาหารยังล้าหลังอย่างมาก เปรียบเหมือนเมืองไทยเมื่อ 7-8 ปีก่อน แต่ราคาสินค้าไม่ได้แตกต่างจากเมืองไทย ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งมีทั้งเจ้าเล็ก กลางและใหญ่ ที่เข้ามาคุยกับเรา หลังเขาเห็นช่องทางการตลาดในประเทศ ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจในต่างแดน เบื้องต้นอาจอยู่ในรูปแบบ “แฟรนไชส์” มากกว่าการ “Joint ventures” (JV) เนื่องจากความเสี่ยงทางด้านการเงินต่ำกว่า และยังใช้เงินลงทุนค่อนข้างน้อย คาดว่า ไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2562 คงจะได้เห็นสาขาแรกของ AU ตอนนี้กำลังเล็ง กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย “ตอนนี้ยังไม่คิดถึงสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ เพราะต้องใช้เวลา แต่คนที่ซื้อแฟรนไชส์เราไป เขาจะไม่ใช้เวลา 10 ปีที่จะประสบความสำเร็จ เพราะสินค้าของเรามาในลักษณะสำเร็จรูป” คุณแม่ทัพ ทิ้งท้ายการสนทนา ด้วยการพูดถึงแผนงานหลังบ้านว่า แม้โรงงานพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร จะยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มอัตรา แต่การที่เรามีแผนจะขยายตลาดต่างจังหวัด ควบคู่กับการเปิดโปรดักส์ใหม่ๆ และรุกงานต่างประเทศในอนาคต ทำให้จำเป็นต้องขยายพื้นที่โรงงานเพิ่มเติม โดยจะทำการก่อสร้างอาคารสูง 2 ชั้นครึ่งเพิ่มเติมบนพื้นที่ 3,500-4,000 ตารางเมตร ซึ่งในช่วงที่ออกแบบโรงงานแห่งแรก เรายังไม่มีผลิตภัณฑ์น้ำแข็งใส ฉะนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับแช่แข็งและเก็บวัตถุดิบมากขึ้น ในส่วนของเครื่องจักรก็คงต้องเพิ่มด้วยเช่นกัน หลังปีก่อนลงทุนเพิ่มไลน์การผลิตขนมปังและน้ำแข็งใสไปแล้ว เพราะเราต้องการเพิ่มวอลุ่มการผลิต โดยไม่ต้องเพิ่มคน สำหรับเรื่องระบบไอทีต่างๆ คงได้เห็นเรานำเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้ในธุรกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่ม Turn Over และลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอขนมนานๆ เมื่อก่อนลูกค้าต้องรอขนมนานครึ่งชั่วโมง แต่ตอนนี้หากใครเข้าไปใช้บริการจะรอเพียง 8-12 นาทีเท่านั้น หากรอเกิน 15 นาที สาขานั้นสอบตก.. สัปดาห์หน้า “เม่าจำไม By Bualuang” จะพาไปซอกแซกเรื่องลงทุน บุคคลน่าสนใจ หรือวาไรตี้สุดฮิปที่ไหน รอติดตาม รับรองเอ็กซ์คลูซีฟเหมือนเคย...
Tips
Global
DR01
สอนลงทุน
Tips
Tools
สอนลงทุน
สอนลงทุน
Tools
Tips
Tips
สอนลงทุน