
Tips
ก่อนที่ผู้เป็นพ่อ “คุณสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์” จะยกตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงิน (CFO) บมจ.เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ภายใต้แบรนด์ เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ให้กับ “คุณบอส ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์” ในฐานะทายาทคนโต (มีน้องชายอายุห่างกัน 4 ปี ชื่อคุณบัดดี้ ธีรวัฒน์ ทองร่มโพธิ์)
เมื่อ 8 ปีก่อน “ชายหนุ่มวัย 27 ปี” ดีกรีปริญญาตรีด้านบัญชีและการเงิน มหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโท สาขาการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยคลุกคลีชีวิตพนักงานขายตั๋วภาพยนตร์นานกว่า 3 เดือน ก่อนจะโยกไปเรียนรู้งานในตำแหน่งอื่นๆ ของ SF เฉลี่ยอายุงาน 3-6 เดือนต่อหนึ่งตำแหน่ง
สัมผัสงานมาแล้วหลากหลายแผนก คุณพ่อคงใกล้ยกตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้ลูกชายคนโตของตระกูลแล้วละสิ ? “คุณบอส” ตอบคำถามนี้แบบติดตลกกับ “หนุ่มแพท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” กูรูด้านการลงทุนประจำหลักทรัพย์บัวหลวง และ“เม่าจำไม By Bualuang” ว่า “ขอผมมีเมียมีลูกก่อนได้มั้ย” (หัวเราะ)
ข้อดีของบัตร SF Movie club card คือ เราจะได้รับบิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ SF รับรู้ถึงพฤติกรรมการใช้บริการเชิงลึกๆ ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ SF กว่า 20 ล้านคนว่า ชอบดูหนังที่ไหน ดูตอนกี่โมง ดูหนังประเภทอะไร ซื้อบริการอาหารและเครื่องดื่มประเภทไหน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถเสิร์ฟสิทธิประโยชน์ตอบแทนลูกค้าได้ตรงตามความต้องการ และสามารถนำดาต้าเหล่านั้นไปต่อยอดในการทำธุรกิจต่อไป
“การนำแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะลดพนักงาน เพราะคนยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะงานหลังบ้านที่ยังมีให้ทำอีกเพียบ” หนุ่มบอส ยืนยัน

การขยายตัวของสังคมดิจิตอลเข้ามาเปลี่ยนสังคมธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือไม่ ?ซีเอฟโอ SF ตอบคำถามนี้ของ “หนุ่มแพท” ว่า การเติบโตของเว็บไซต์กำลังทำให้คนบางกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพคอนเทนท์ แต่ยังส่งผลกระทบไม่มากเท่าไรนักในประเทศไทย ยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพชัดๆ การเข้ามาของ “ไอฟลิกซ์” (iFlix) และ “เน็ตฟลิกซ์” ( Netflix) ผู้ให้บริการสื่อแบบส่งต่อเนื่องตามคำขอทางอินเทอร์เน็ต ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และเมืองลอสแกทัส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ (อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย) แม้จะคิดค่าบริการรายเดือนไม่แพงนัก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคไทยยังคงคุ้นชินกับการเสพความบันเทิงในลักษณะไม่เสียเงิน แตกต่างจากต่างประเทศที่จะถูกบังคับให้เสียเงิน หากต้องการเสพความบันเทิงทางออนไลน์ ในเมื่อเหรียญมีสองด้าน นั่นแปลว่า ย่อมมีคนบางกลุ่มยินดีควักเงินเสพสื่อออนไลน์ ? คุณบอส ตอบคำถามนี้ว่า ก็ใช่ แต่หากหน้าหนังดี หลายคนก็ยินยอมจ่ายเงิน เพื่อเข้ามาเสพความบันเทิงเต็มรูปแบบ ยิ่งช่วงไหนมีหนังแฟรนไชส์ (หนังภาคต่อ) ซึ่งส่วนใหญ่ทำออกมาให้ดูง่าย และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยิ่งเรียกคนออกมาดูหนังได้มากขึ้น วันนี้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคต้องการความครบวงจร และการที่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ย่อมช่วยหนุนให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะคนชอบดูหนัง ส่วนใหญ่ชอบเสพบรรยากาศ “แม้สื่อดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาท ในการช่วยโปรโมทสินค้าของลูกค้ามากขึ้น แต่การโฆษณาผ่านสื่อโรงภาพยนตร์ก็ไม่ได้ปรับตัวลดลง ตรงข้ามกับเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้อุตสาหกรรมสื่อที่ผ่านมาจะติดลบก็ตาม นั่นเป็นเพราะโฆษณาผ่านโรงภาพยนตร์จะทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย” นายน้อยแห่ง SF ยอมรับว่า การคืบคลานเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆของสื่อดิจิตอล ดูจะไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการทำงานของธุรกิจโรงภาพยนตร์ แต่ “เวลา” ต่างหาก คือ ตัวอุปสรรคที่แท้จริง เพราะคนเริ่มมีเวลาน้อยลง บ่งชี้ได้จากกระแสช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งอุปสรรค คือ ผู้บริโภคคนไทยชอบ “ความเป็นส่วนตัว” ฉะนั้นหน้าที่ของเรา คือ จะแก้โจทย์เหล่านี้อย่างไร
เมื่อโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี SF จะแก้เกมเรื่องนี้อย่างไร ?ทายาทคนโตประจำตระกูล เล่าว่า เราปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0 มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ด้วยการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โจทย์ของเรา คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินและรับตั๋วชมภาพยนตร์ได้ง่ายๆ ในอนาคตลูกค้าของ SF อาจไม่ต้องต่อคิวรอซื้อตั๋วภาพยนตร์นานๆ โดยเฉพาะตามสาขาใหญ่ๆ ไม่ต้องเดินถือตั๋ว ไม่ต้องเจอหน้าพนักงาน เพราะลูกค้าจะสามารถสแกนตั๋วหนัง เพื่อเข้าชมภาพยนตร์ได้ด้วยตัวเอง แต่ก่อนจะไปถึงสเต็ปนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา เราได้เปิดจำหน่าย SF Movie club card (ม.ล.มล จิราธร เป็นผู้ออกแบบการ์ดที่มีทั้งหมด 3 ลาย) ซึ่งเป็นการ์ดที่สามารถเติมเงินได้ สะสมแต้มได้ และมีสิทธิประโยชน์มากมายสำหรับลูกค้า ณ สาขาเทอร์มินอล 21 โคราช และเซ็นทรัล โคราช เป็นวันแรก

“ขยายสาขา” สร้างการเติบโตต่อเนื่องภารกิจตลอดปี 2561ธุรกิจโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2560 ยังคงเติบโตมาก เพราะหน้าหนังค่อนข้างดี ที่สำคัญยังมีช่องทางในการขยายธุรกิจอีกมาก เพราะบางจังหวัดยังไม่มีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการ เพียงแต่อัตราเติบโตอาจต่ำลง เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ส่วนแนวโน้มการเติบโตตลอดปี 2561 ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะมีสื่อดิจิตอลเข้ามาแย่งพื้นที่บ้างก็ตาม ตามแผนงานในปี 2561 SF จะเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง โดยจะเน้นเจาะตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ประกอบด้วย 1.สาขาใน TOP จังหวัดพะเยา 3 โรง เปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา 2. สาขาใน Big C เพชรเกษม 4 โรง 3. สาขาใน Big C สระแก้ว 3 โรง 4. สาขาใน Big C สมุทรสงคราม 3 โรง 5. สาขาใน Robinson อมตะ ชลบุรี 5 โรง และ 6. สาขาใน เทอร์มินอล 21 พัทยา 7 โรง เหตุผลที่ SF บุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น แม้กำลังซื้อจะไม่ได้แตกต่างจากตลาดกรุงเทพและปริมณฑล นั่นเป็นเพราะเรามองเห็นโอกาสในการเติบโต หลังพันธมิตรของ SF อย่างศูนย์การค้า และซูปเปอร์มาร์เก็ต ต่างพากันออกไปเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในตลาดภูธร ขณะที่บางจังหวัดยังไม่มีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการ ฉะนั้นหากเข้าไปเปิดให้บริการก่อนย่อมได้เปรียบ บางคนอาจสงสัยว่า ทำไม SF ไม่เปิดสาขาในลักษณะสแตนด์อโลน เพราะใช้พื้นที่เพียง 1-2 ไร่ นั่นเป็นเพราะการเปิดในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้แตกต่างจากการเป็น Community Mall ที่ต้องมีบริการครบวงจรให้กับลูกค้า ซึ่งโอกาสจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ยอมรับว่า ค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับการออกไปเปิดสาขาตามศูนย์การค้าหรือซูปเปอร์มาร์เก็ต

(คุณบอส vs คุณแพท ถ่ายรูปคู่โมเดลศูนย์การค้า เมญ่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลทองร่มโพธิ์)
“ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นวันนี้ยังเดินทางมาไม่ถึงจุดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัว ปัจจุบัน SF และ MAJOR มีโรงภาพยนตร์ให้บริการในเมืองไทยอยู่พันกว่าโรงเท่านั้น” สิ้นปี 2561 SF อาจมีโรงภาพยนตร์ให้บริการประมาณ 62 สาขา เทียบกับสิ้นปี 2560 ที่มี โรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 57 สาขา 373 โรงภาพยนตร์ 82,337 ที่นั่ง แบ่งเป็น กรุงเทพและปริมณฑล 20 สาขา 166 โรงภาพยนตร์ 37,420 ที่นั่ง และต่างจังหวัด 27 จังหวัด 37 สาขา 207 โรงภาพยนตร์ 44,917 ที่นั่ง แม้เราจะมีสัดส่วนโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่า แต่สาขากรุงเทพและปริมณฑลยังคงเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับบริษัท ซึ่งทำเลในกรุงเทพและปริมณฑล SF ยังขาดอยู่หลายจุด เช่น รังสิต และบางนา เป็นต้น ส่วนสาขาที่ทำรายได้สูงสุดคงหนีไม่พ้น “เซ็นทรัลเวิลด์” ส่วนสาขาที่มีคนใช้บริการมากที่สุด คือ “บางกะปิ”มีแผนโกอินเตอร์หรือไม่ ?หนุ่มบอส ตอบคำถามนี้ว่า เรามองกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม) คงไปไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นเล็งประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ความน่าสนใจของสองประเทศนี้อยู่ตรงที่มีอัตราเติบโตที่รวดเร็วมาก ขณะที่ค่าแรงกำลังไล่ตามเมืองไทย วิธีการลงทุนคงต้องจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น เพราะเขามีความรู้เรื่องกฎหมายมากกว่าคนต่างชาติอย่างเรา “ในเมื่อเป้าหมายการทำธุรกิจของ SF คือ Leading Entertainment Company ฉะนั้นคงไม่หยุดการลงทุนเพียงเมืองไทย แต่ต้องหาทางเติบโตและลดความเสี่ยงนอกบ้านต่อไป” ซีเอฟโอวัย 27 ปี ปิดการสนทนา ด้วยการยืนยันเรื่องการนำ SF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เรามีแผนจะเข้าตลาดหุ้นมาสักพักแล้ว เพียงแต่ต้องการปรับปรุงระบบหลังบ้าน และโครงสร้างบุคลากร ให้มีศักยภาพมากกว่านี้ก่อน เพราะการเข้าตลาดหุ้น ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุมระบบภายในที่ดี ฉะนั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาดปลายปี 2561 SF คงได้เข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ ในประเทศไทยมีเจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์เพียง 2 เจ้า (SF และ MAJOR) เราทำธุรกิจกันด้วยความเข้าใจ ไม่มีใครจ้องจะฆ่ากันให้ตายในสมรภูมิ ในต่างประเทศเอง ก็มีผู้เล่นไม่มากนักเช่นกัน ซึ่งการมีผู้ประกอบการน้อยรายจะทำให้เราสามารถทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว เวลาต่อรองเรื่องต่างๆ ก็จะทำได้ง่าย “หลายปีที่ผ่านมา SF มีอัตรากำไรเติบโตปีละประมาณ 10-15% และแม้สื่อดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราเชื่อมั่นว่า ฐานะการเงินยังคงเติบโตเหมือนเดิม โดยรายได้หลักยังคงมาจากการขายตั๋วภาพยนตร์ อาหารและเครื่องดื่ม เฉลี่ยกว่า 80% ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าโฆษณา และค่าเช่าพื้นที่” “หนุ่มบอส” ชายหนุ่มผู้มีความฝันว่า “วันหนึ่งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี” กล่าวเช่นนั้น สัปดาห์หน้า “เม่าจำไม By Bualuang” จะพาไปซอกแซกเรื่องลงทุน บุคคลน่าสนใจ หรือวาไรตี้สุดฮิปที่ไหน รอติดตาม รับรองเอ็กซ์คลูซีฟเหมือนเคย...
Tips
Global
DR01
สอนลงทุน
Tips
Tools
สอนลงทุน
สอนลงทุน
Tools
Tips
Tips
สอนลงทุน