อนาคตเวียดนามในยุคผู้นำใหม่ ท่ามกลางโลกปั่นป่วนจากทรัมป์
อนาคตเวียดนามในยุคผู้นำใหม่ ท่ามกลางโลกปั่นป่วนจากทรัมป์

อนาคตเวียดนามในยุคผู้นำใหม่ ท่ามกลางโลกปั่นป่วนจากทรัมป์

อนาคตเวียดนามในยุคผู้นำใหม่ ท่ามกลางโลกปั่นป่วนจากทรัมป์

ในขณะที่เวทีการเมืองโลกเข้าสู่ยุคที่ไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ เวียดนามเองก็กำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศเช่นกัน ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ “โต เลิม” ซึ่งได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ตำแหน่งสูงสุดในโครงสร้างการเมืองเวียดนาม การเปลี่ยนผ่านผู้นำครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของอำนาจทางการเมือง แต่ยังถือเป็นจังหวะสำคัญของการออกแบบอนาคตใหม่ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมใหญ่พรรคในปี 69 ซึ่งจะเป็นเวทีวางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อผลักดันเวียดนามสู่การเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ภายในปี 88

ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกมาถกกันอย่างเจาะลึกในงานสัมมนา “อนาคตเวียดนามในยุคผู้นำใหม่ ท่ามกลางโลกปั่นป่วนจากทรัมป์” ซึ่งจัดโดยหลักทรัพย์บัวหลวง ร่วมกับ Dragon Capital และธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียดนาม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ได้แก่ คุณ Le Anh Tuan (Chief Investment Officer, Dragon Capital) ซึ่งถ่ายทอดภาพใหญ่ของเศรษฐกิจเวียดนาม พร้อมประเมินผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์, คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทธ์ (ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม) เผยมุมมองของคนไทยที่ทำงานและใช้ชีวิตที่เวียดนามมาแล้วกว่า 20 ปี และคุณอรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์ (หัวหน้าฝ่าย Structured Products และฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศ, หลักทรัพย์บัวหลวง) ซึ่งมาร่วมต่อยอดด้วยมุมมองเชิงกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนไทยในช่วงเวลาสำคัญนี้

ประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจ คือ ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าที่เข้มข้นของสหรัฐฯ ภายใต้ยุคทรัมป์ 2.0 ซึ่งมีแผนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามสูงถึง 46% หากสถานการณ์ยืดเยื้อและไม่มีข้อสรุปชัดเจน ผลกระทบต่อเวียดนามอาจสูงถึง -2% ของ GDP จากทั้งการลดลงของคำสั่งซื้อ และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม คุณ Le Anh Tuan มองว่าผลกระทบต่อภาพรวมตลาดทุนเวียดนามยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 2% ของรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี VN เท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ เช่น การจัดซื้อเครื่องบิน Boeing พลังงาน LNG และอาวุธจากสหรัฐฯ พร้อมเปิดทางให้บริษัทเทคโนโลยีอเมริกันอย่าง SpaceX, NVIDIA และ Qualcomm เข้ามาลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศชุดใหญ่ ผ่านนโยบาย 7 เสาหลัก ตั้งแต่การยกเว้นภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ ไปจนถึงการอัดฉีดงบประมาณเพื่อหนุนการบริโภคภายใน

แม้โลกภายนอกจะปั่นป่วน แต่วิทยากรทั้งสามท่านต่างเห็นพ้องกันว่า จุดแข็งของเวียดนามยังคงอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง แรงงานคุณภาพ และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะจากการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง และกระแส FDI ที่ยังคงหลั่งไหลอย่างต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เทคโนโลยี พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน แม้หลายฝ่ายจะแสดงความกังวลว่ามาตรการภาษีของทรัมป์อาจลดแรงจูงใจในการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม และกระทบต่อกระแส FDI ในระยะถัดไป แต่คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทธ์ ชี้ว่าเวียดนามไม่ได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นแค่ประเทศ “แรงงานถูกและดี” อีกต่อไป หากแต่กำลังยกระดับเป็น “เก่งและลึก” เพื่อดึงดูด FDI คุณภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ล่าสุด Samsung ได้ประกาศลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) มูลค่าราว 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกรุงฮานอย ซึ่งนับเป็นศูนย์ R&D ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในศักยภาพระยะยาวของเวียดนามในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค

ผลตอบแทนของตลาดหุ้นเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงสะท้อนศักยภาพของประเทศอย่างชัดเจน โดยดัชนี VN ให้ผลตอบแทนสะสมสูงถึง +124.5% แซงหน้าตลาดหุ้นไทยซึ่งติดลบ -20.2% และ MSCI ACWI ที่ให้ผลตอบแทน +95.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค. 68) ความโดดเด่นนี้มีรากฐานจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ต่อเนื่อง หนุนโดยแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศและเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งยังคงเป็นสองเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

image-2025-05-14T181651-332.png

Sources: BLS Global Investing, Bloomberg ณ วันที่ 6 พ.ค. 68

ในด้านกลยุทธ์การลงทุนผ่าน DR คุณอรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์ วิเคราะห์ว่าช่วงครึ่งแรกของปี 68 ยังอยู่ในโหมด “Risk Off” จากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง โดยเน้นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีฐานรายได้มั่นคงในประเทศเป็นหลัก เช่น DR E1VFVN3001 ซึ่งอิงดัชนี VN30 ที่ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่และมีน้ำหนักกลุ่มธนาคารสูงถึงราว 40% ทั้งนี้อาจใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อการเจรจาภาษีเริ่มมีความคืบหน้าในช่วงครึ่งหลังของปี บรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มกลับเข้าสู่โหมด “Risk On” อีกครั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนหันมาสะสมหุ้นเติบโต โดย DR ที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้คือ FUEVFVND01 ซึ่งอิงดัชนี VN Diamond ที่รวมหุ้นชั้นนำของเวียดนามที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น FPT บริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของเวียดนาม ที่มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และ PNJ ผู้นำธุรกิจเครื่องประดับที่เติบโตควบคู่กับชนชั้นกลางในประเทศ

โดยสรุป แม้เวียดนามจะเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก แต่ด้วยการปรับตัวเชิงรุก เสถียรภาพภายในที่เข้มแข็ง และวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่มุ่งยกระดับประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ “เวียดนามในยุคผู้นำใหม่” ยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนที่น่าจับตามองที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของ DR ได้ที่ bualuang.co.th/dr


บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง