top10thus
top10thus

เปิดโผ “TOP 10” หุ้นสหรัฐฯ หุ้นไทย “ใหญ่สุด” ในรอบ 5 ปี

เปิดโผ “TOP 10” หุ้นสหรัฐฯ หุ้นไทย “ใหญ่สุด” ในรอบ 5 ปี

Final-AW-Compare-comps.jpg

 

เริ่มกันที่ทางฝั่งของสหรัฐฯ กันก่อนเลยนะคะ

รู้หรือไม่..ในประเทศสหรัฐฯ บริษัทใหญ่ที่สุด เมื่อ 5 ปีก่อน ไม่ได้เหมือนกับปัจจุบัน…มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างและน่าสนใจแค่ไหน ตามมาดูกันค่ะ

1. Apple (AAPL) ที่ยังคงครองอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็น 5 ปีก่อนหรือในตอนนี้ เหตุผลหลัก ๆ คือ Apple เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แซงหน้าคู่แข่ง ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับสินค้า อีกทั้งนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ส่งผลทำให้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มหันมาใช้สินค้า ภายใต้แบรนด์ Apple กันมากขึ้น และไม่ใช่เพียงการพัฒนาและจำหน่ายสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ Apple ยังขยายธุรกิจ คิดค้นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อื่น ๆ อาทิ Wearable device อย่าง Airpods และ Apple Watch หรือแม้แต่อุปกรณ์แท็บเล็ตอย่าง iPad ที่ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าวัยเด็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ ก็สามารถใช้ได้ง่าย ๆ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในวงกว้าง อีกทั้งหากดูในกราฟจะเห็นว่า รายได้จากการบริการมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างธุรกิจบริการของ Apple เช่น Apple One ที่รวมบริการระดับพรีเมียมจำนวนหนึ่ง และลูกค้าที่ชำระค่าธรรมเนียมรายเดือนก็จะสามารถใช้บริการไม่ว่าจะเป็น iTunes, iCloud, Apple News+ เป็นต้น

สัดส่วนรายได้แบ่งตามรายการสินค้า

01.png

Source: BLS Global Investing, Statista as of July 2020 

บริการที่สามารถใช้ได้ เมื่อสมัครสมาชิก Apple One

02

Source: Deltathailand.com

2. Microsoft (MSFT) จากเดิมที่จัดว่า อยู่อันดับ 3 เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แล้ว โดยเหตุผลหลักเกิดจากการเติบโตของ Cloud Computing โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจคลาวด์ Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการจัดการโครงสร้างทุกอย่าง ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ไปจนถึงซอฟต์แวร์ รายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 27% ของรายได้รวมเมื่อปี 58 ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ที่ 34% ในปี 63 โดยหากมองที่อัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีจะอยู่ที่ 16% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นหากมองที่สัดส่วนรายได้ รายได้ของ Microsoft ค่อนข้างกระจายตัว จะเห็นว่ารายได้จากการให้บริการคลาวด์ในปี 2564 (รอบบัญชี: 1 ก.ค.62 – 30 มิ.ย. 64) มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 33.8% ของรายได้รวม และรายได้จากสินค้าประเภท Personal Computing อาทิ Windows, Surface, และรายได้จากเกม มีสัดส่วนอยู่ที่ 33.7% ของรายได้รวม และสุดท้ายคือรายได้ประเภท Productivity and Business Processes จากสินค้า Microsoft 365 และ LinkedIn อยู่ที่สัดส่วน 32.4% ของรายได้รวม อีกทั้ง Microsoft มีการขยาย เพิ่ม และพัฒนาสินค้าและบริการอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่ในรอบ 5 ปีมานี้ รายได้รวมเติบโตเฉลี่ยที่ 9% ต่อปี

กราฟเปรียบเทียบผลตอบแทนสะสม (Cumulative Total Return) ของหุ้น Microsoft, S&P 500, และ Nasdaq Computer ปี 58 – 63 (5 ปี)

03.png

Source: Microsoft Annual Report

 3. Amazon (AMZN) จากเดิมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ตอนนี้ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 รองจาก Microsoft (MSFT) เหตุผลหลักมาจากธุรกิจคลาวด์ที่กำลังมาแรง โดย Amazon Web Service เป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตาของ Amazon โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 50.2% ใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกอยู่ที่ราว 33% จากมูลค่ารวมของตลาดคลาวด์ที่ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3 ล้านล้านบาท ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง Azure ของ Microsoft ที่มีส่วนแบ่ง 18% โดยเรามองว่า ตลาด Cloud ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ซึ่งช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ยิ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทต่าง ๆ มาใช้ระบบ Cloud กันมากขึ้น อีกทั้ง Amazon ได้ขยายไปสู่ธุรกิจแบบ Online to Offline (O2O) มากขึ้น โดยนำข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าไปใช้ในการเลือกสินค้าหน้าร้าน เพื่อสร้างการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทราบหรือไม่ว่า !? รายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ของ Amazon ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยที่ 16.5% ต่อปี และรายได้จากการขายสินค้าในช่วง Black Friday ที่ผ่านมา Amazon สามารถทำรายได้จากทั่วโลกได้กว่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ Wall Street ได้กล่าวว่าทุก ๆ 1 เหรียญสหรัฐฯ ที่ถูกจ่ายในวัน Black Friday นั้น Amazon สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนกว่า 42 เซนต์

4. สำหรับบริษัทที่เราเชื่อว่าใคร ๆ ก็เคยได้ใช้สินค้าของเขามาแล้ว นั่นก็คือ บริษัท Google (GOOGL) เราใช้ Search Engine รวมทั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อาทิ Youtube, Gmail, Google Classroom, Google Docs, หรือแม้แต่ระบบแอนดรอยด์ในทุก ๆ วัน ทำให้รายได้ธุรกิจ Google Search and others ในไตรมาส 3 ปี 63 อยู่ที่สัดส่วน 57% ของรายได้ทั้งหมด

04.png

Source: Investor.apple.com

            หากเข้าไปดูจำนวนผู้ใช้งาน Youtube ในปัจจุบันจะเห็นว่า ผู้ใช้งานต่อเดือนของ Youtube อยู่ที่ 2 พันล้านรายและผู้ใช้งานต่อวันอยู่ที่ 30 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. 63)

 

5. ด้าน Facebook (FB) ที่มี CEO อย่าง คุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จากเดิมที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ไปแล้ว จากยอดผู้ใช้งาน Facebook ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้รับแรงหนุนจากพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดผู้ใช้งาน Facebook เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 63 Facebook มียอดผู้ใช้งานปัจจุบันรายเดือนแตะ 2.7 พันล้านผู้ใช้และโตเฉลี่ย 5 ปีที่ 12.5% ต่อปี

 

6. Tesla Inc. (TSLA) จากเดิมที่ไม่ติด 10 อับดับแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้อยู่อันดับ 6 แล้ว จากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV ด้วยสมรรถนะเทียบเคียงรถระดับ Supercar และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตามแผนของ อีลอน มัสก์ โดยจะเห็นได้ว่า ยอดส่งมอบรถของ Tesla โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรุ่นยอดฮิตยังคงเป็นรถยนต์ EV Model 3 ที่ขายอยู่ที่ราคาประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคัน อีกทั้ง อีลอน มัสก์ ยังคงมีแผนการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยงบไตรมาส 3 ปี 63 สร้างกำไรต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน Tesla เผยรายได้ไตรมาส 3 ปี 63 ทำสถิติใหม่โต 2% แตะ 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังยอดส่งมอบรถทำสถิติใหม่เช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 53.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะ 139,593 คัน กำไรพุ่ง 132% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แตะ 331 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และล่าสุด! Tesla กำลังจะถูกเพิ่มเข้าในดัชนี S&P 500 ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนราย 1.5% ของดัชนี ขณะที่ราคาหุ้นปรับขึ้นมากว่า 52.6% นับตั้งแต่ S&P ประกาศข่าวนี้เมื่อวันที่ 16 พ.ย.

 

7. บริษัทที่ให้บริการด้านการเงินที่หลากหลายอย่าง Wells Fargo (WFC) ที่เคยใหญ่เป็นอันดับ 10 ในสหรัฐฯ เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้ถูกแทนที่โดยบริษัทที่ให้บริการด้านการเงินเน้นเทคโนโลยี อย่าง Visa (V) ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของสหรัฐฯแล้ว หากมองที่อัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 5 ปีของ Wells Fargo (5Y CAGR) จะอยู่ที่ 0.19% ต่อปี ในขณะที่ Visa (V) รายได้โตเฉลี่ย 5 ปีที่ 10% ต่อปี ถึงแม้ทั้งสองบริษัทนี้จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ที่มาของรายได้นั้นแตกต่างกัน

โดยรายได้หลักของ Visa (V) มาจาก 3 ส่วน คือ รายได้จากการประมวลผลข้อมูล (Data processing fees), รายได้จากการให้บริการ (Services fees), และรายได้จากธุรกรรมข้ามประเทศ (International transactions fees) โดยมีสัดส่วนรายได้ในปี 64 อยู่ที่ 50% 45% และ 30% ตามลำดับ (สัดส่วนรายได้รวมมากกว่า 100% เนื่องมาจากมีรายได้ในส่วนของ Client incentives ที่ -31%) ในขณะที่รายได้ของ Wells Fargo สัดส่วนหลัก คือ รายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยและรายธุรกิจ

 

8. บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ อย่าง Walmart (WMT) จากเดิมที่อยู่อันดับ 16 เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 9 และเป็นเพียงบริษัทเดียว ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แล้วรู้หรือไม่ว่า Walmart ออกบริการ Walmart+ แข่งกับ Amazon Prime ซึ่งเป็น Subscription service ให้สมาชิกได้สั่งซื้อสินค้าบางอย่างในราคาถูกกว่าปกติ แถมยังจัดการส่งของให้ฟรี โดย Walmart ตั้งราคาที่ถูกกว่า Amazon ถึง 18% อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่ Amazon Prime สู้ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็น Unlimited same-day delivery ที่ครอบคลุมสินค้ามากกว่าหมื่นชนิด

 

9. บริษัท 2 บริษัทที่ออกไปจาก 10 อันดับในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่มีชื่อว่า Exxon Mobil (XOM) ที่เมื่อ 5 ปีก่อน เคยใหญ่เป็นอันดับ 5 และบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อว่า General Electric (GE) ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 125 ปี ซึ่งเป็นบริษัทนำเสนอโซลูชั่นที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการตลาดที่ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Renewable energy) การดูแลสุขภาพ (Healthcare) และการขนส่งที่จำเป็น (Aviation) ที่เมื่อ 5 ปีก่อน เคยใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศสหรัฐฯ ตอนนี้ถูกแซงหน้าไปแล้ว โดย Exxon Mobil กลายมาเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อันดับ 36 ที่มูลค่าตลาด 1.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และ General Electric อยู่ที่อันดับ 74 มูลค่าตลาด 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

 

มาต่อกันที่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยฝั่งไทยกันบ้างค่ะ…

  1. บริษัทที่ยังครองอันดับ 1 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทย ก็ยังคงเป็น บมจ.ปตท. หรือ PTT อีกเช่นเคย เหมือนกันกับของทางฝั่งสหรัฐฯอย่าง Apple (AAPL) ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังครองตำแหน่งเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทำไมถึงยังคงครองอันดับหนึ่งได้…ปตท. เป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานที่เน้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายในสินค้าจำพวกน้ำมันและก๊าซ รวมถึงยังครอบคลุมด้านการขนส่งน้ำมันและก๊าซไปแหล่งแจกจ่าย อีกทั้งยังขยายธุรกิจแบบปลายน้ำ กล่าวคือ ยังเปิดสถานีน้ำมัน เพื่อสร้างรายได้จากการเป็นผู้จำหน่ายเองโดยตรง นอกจากนั้นยังทำธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมีและการกลั่น โดยสามารถกลั่นน้ำมันรวมได้ทั้งสิ้น 770,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท Specialty และการสร้างโอกาสทางธุรกิจบนความต้องการของตลาด (Market back strategy)

 

  1. หากเริ่มมองจาก 5 อันดับแรก จะเห็นได้ว่า 4 บริษัทยังคงเป็นบริษัทหน้าเดิม ไม่ว่าจะเป็น 5 ปีก่อนหรือว่าในปัจจุบัน แต่อีก 1 บริษัทก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่เคยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ใน 5 ปีก่อน กลายมาเป็น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของไทย และ SCB ก็กลายมาอยู่ที่อันดับ 10 ของไทย โดย SCC ดำเนินธุรกิจ 3 ธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเคมีภัณฑ์, ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยมีสัดส่วนรายได้ปี 62 เมื่อเทียบกับรายได้รวม ที่กว่า 40%, 40%, 20% ตามลำดับ และอัตราการเติบโตของรายได้รวมเฉลี่ย 5 ปีชะลอตัวที่ -0.7%

 

  1. บริษัทหน้าใหม่ ที่ติด 10 อันดับในปัจจุบัน จากเดิมที่ไม่เคยติดมาก่อน ได้แก่
  • บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA บริษัทผู้ให้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งผลิตระบบพลังงานสำหรับการโทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ และระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม

05.png

Source: Deltathailand.com

  • บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า รวมถึงเป็นเจ้าของโครงการก๊าซเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย
  • บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP บริษัทสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยพัฒนาโครงการเพื่อผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันบมจ.ปตท.ถือหุ้นอยู่ที่ 65%

 

  1. เมื่อ 5 ปีก่อน หากลองมองที่ กลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นว่ามี 4 ใน 10 บริษัทที่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านเงิน (Financial services) แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น คือ SCB ซึ่งอาจมองได้ว่า แนวโน้มการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันบริษัทที่เข้ามาแทนที่นั้นเป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานและกลุ่มวัสดุก่อสร้างมากขึ้น

 

การเลือก Sector ในการลงทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ…

จะเห็นได้ว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับของทางฝั่งสหรัฐฯ จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีค่อนข้างมากมีจำนวนกว่า 5 บริษัท และเป็น 5 อันดับแรกบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกทั้งบริษัทเทคฯ ถูกจัดว่าเป็นบริษัทในกลุ่ม New Economy ที่อาจเติบโตได้ดีต่อไปในอนาคต ในขณะที่บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Old Economy อาจต้องพบเจอกับอุปสรรคในการเติบโตมากกว่า สะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมแบบ K-shaped

ดังนั้นนักลงทุน หากเลือกลงทุนในหุ้นหรือบริษัทในกลุ่มที่เหมาะสมและล้อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะทำให้มีโอกาสในการได้กำไรจากการลงทุนที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นหรือบริษัทในกลุ่มที่มีโอกาสในการเติบโตที่น้อยกว่าได้

 

สัปดาห์หน้า ทีม BLS Global Investing จะนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศในประเด็นและมุมมองแบบไหนนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะคะ

 

Source: เว็ปไซต์หลักของบริษัท, Bloomberg, Omnicoreagency, ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธ.ค. 63

 

📌 เปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศออนไลน์ง่าย ๆ สไตล์ BLS Global Investing ได้ที่ https://bls.tips/openglobalinvesting

📌 ขยายวันโอนเงินไปต่างประเทศกับหลักทรัพย์บัวหลวง ฟรี! ค่าธรรมเนียมโอนเงิน ทุกวันอังคาร และ วันพุธตลอดวัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://bls.tips/globalinvesttransfer

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง