
สำหรับใครที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม จำเป็นมากที่จะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน แต่ข้อมูลของกองทุนนั้นมีเยอะมาก จะต้องเริ่มศึกษาอย่างไร ควรอ่านข้อมูลส่วนไหนบ้าง??…แนะนำให้อ่าน Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ควรทราบทั้งหมดในกองทุนรวมนั้นๆ ก่อนการลงทุน ทีนี้จะได้ทราบว่ากองทุนที่เราจะลงทุนนั้นมันโดนใจเราจริงๆ หรือเปล่า…
กองทุนรวม คืออะไร ?
กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ เครื่องมือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ซื้อหลายๆ รายนำเงินมารวมกันผ่านการซื้อหน่วยลงทุน แล้วให้คนเก่งๆ มาบริหารให้ คนๆ นั้นเราเรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” โดยกองทุนรวมมีนโยบายที่หลากหลายให้เลือกลงทุน ตั้งแต่เสี่ยงน้อยๆจนถึงเสี่ยงสุดๆ ซึ่งผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินทุนของนักลงทุน ไปจัดสรรและลงทุนในตราสารต่างๆ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนไปสู่นักลงทุน ทั้งในรูปแบบของส่วนต่างราคาและเงินปันผล ซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินไม่มากแต่อยากลงทุน ไม่ค่อยมีความรู้ในการเลือกหุ้นและไม่มีเวลาในการติดตาม
ความแตกต่างระหว่างหุ้นกับกองทุนรวม
Fund Fact Sheet คืออะไร ?
Fund Fact Sheet หรือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม เป็นข้อมูลโดยย่อที่แสดงเกี่ยวกับนโยบาย ลักษณะผลตอบแทน ความเสี่ยง และเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุน เพื่อให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
ข้อมูลอะไรบ้างใน Fund Fact Sheet ที่ควรดู
1.ข้อมูลเบื้องต้นของกองทุนรวม
(1) ข้อมูลของวันไหน ให้สังเกตจากด้านมุมบนขวามือ ว่าเป็นข้อมูลที่อัพเดทหรือไม่
(2) ชื่อกองทุนรวม ตรวจสอบชื่อกองทุนว่าใช่กองที่เราสนใจ ถูกต้องหรือไม่
(3) ประเภทของกองทุนรวม เป็นกองทุนประเภทไหน
(4) นโยบายการจ่ายปันผล และความถี่ในการเปิดซื้อขาย ดูว่ากองทุนนี้จ่ายปันผลหรือไม่ เป็นกองทุนเปิดหรือกองทุนปิด หากเป็นกองทุนเปิดจะซื้อขายได้ทุกวันทำการ
2. ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม โดยจะมีความเสี่ยงทั้งหมด 8 ระดับ
ซึ่งต้องดูระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเองว่าเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมที่เราจะลงทุนหรือไม่ ทั้งนี้สามารถดูระดับความเสี่ยงของตนเองได้จากการทำแบบประเมินความเสี่ยงนั่นเอง
3. นโยบายการลงทุน
- สินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน มีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง
- กลยุทธ์ในการบริหารกองทุนรวม เป็นประเภท Active หรือ Passive (กองทุน Active คือลงทุนให้ผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัด ส่วนกองทุน Passive คือลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตามดัชนีชี้วัด)
- ดัชนีชี้วัด (Bench mark) ของกองทุนรวม ดัชนีที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลงานกองทุนรวม
4. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
ดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง และมีการเทียบกับ Benchmark หรือดัชนีชี้วัดของกองทุนรวม ว่ากองทุนรวมสามารถทำผลงานได้ดีกว่าหรือไม่
5. สัดส่วนของประเภททรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุน
ในส่วนแรก ดูว่ากองทุนรวมนั้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เป็นสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง
ในส่วนที่สอง ดูรายชื่อสินทรัพย์ที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
6. อัตราค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
(1) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม คิดเป็น % ต่อปีของ NAV เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียน โดยจะถูกคิดและหักออกทุกวัน
(2) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน คิดเป็น % ของมูลค่าซื้อขาย เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย การรับซื้อคืน การสับเปลี่ยน ซึ่งจะถูกคิดรวมในราคาซื้อขายแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไม่กระทบกับเงินทรัพย์สินของกองทุนรวม แต่จะกระทบกับผลตอบแทนที่เราจะได้รับ
7. ข้อมูลการซื้อขายหน่วยลงทุน
กองทุนรวมแต่ละกองจะมีการกำหนดวันเวลา และจำนวนเงินขั้นต่ำของการซื้อ-ขายหน่วยลงทุน
* ตัวอย่างข้างต้นเป็นข้อมูล Fund Fact Sheet ของ BMSCITH
BMSCITH เป็นกองทุนรวม ETF โดย บลจ. บางกอกแคปปิตอล จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง เป็นผู้ออก และ บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง ผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน อ่านรายละเอียด และหนังสือชี้ชวนได้ที่ www.bcap.co.th
เปิดบัญชีกองทุนออนไลน์…พร้อมซื้อได้ครบที่เดียว 17 บลจ.
อ่านวิธีเปิดบัญชีกองทุน…คลิกที่นี่