
วันนี้ BLS Global Investing ชวนมาทำความรู้จัก 10 อันดับหุ้นแรก ใน ดัชนี Hang Seng TECH ดัชนีรวมเทคจีนที่กำลังมาแรงในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง กันค่ะว่ามีหุ้นอะไรบ้างที่น่าสนใจ ทำธุรกิจอะไรและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย...
ทำความรู้จัก...ดัชนี Hang Seng TECH
ดัชนี Hang Seng TECH ประกอบไปด้วยหุ้นบริษัทจีนและฮ่องกงยักษ์ใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange : HKEX) จำนวน 30 ตัวแรก โดยเรียงตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) โดย Hang Seng TECH เป็นดัชนีเกาะธีมเทคโนโลยีที่ครอบคลุมหลายลักษณะธุรกิจ เช่น Cloud, ดิจิทัล, อีคอมเมิร์ซ, FinTech รวมไปถึงธุรกิจที่เน้นลงทุนด้านการวิจัย เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูง อีกทั้งหลายบริษัท มักเป็นที่รู้จักระดับโลก
ยกตัวอย่างเกณฑ์ของหุ้นที่จะถูกนำมาคัดเลือกเข้าดัชนี (เข้าเกณฑ์อย่างน้อย 1 ข้อ) ดังนี้...
1) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี
2) ลงทุนใน R&D โดยมีค่าใช้จ่าย R&D มากกว่าหรือเท่ากับ 5% ของรายได้
3) สร้างอัตราการเติบโตของรายได้ มากกว่าหรือเท่ากับ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ดัชนี Hang Seng TECH ถือเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้นจีนกลุ่ม New Economy ที่ครอบคลุมธุรกิจจากหลากหลายภาคส่วน โดยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจควบคู่กัน ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก โดยมีอัตราเติบโตรายได้เฉลี่ย 3 ปี (CAGR) ของหุ้น 10 อันดับแรกในดัชนี สำหรับปี 65-68 อยู่ที่ 16.2% ต่อปี โดยเมื่อรวมกับการเน้นที่ R&D และเป้าหมายในการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนแล้ว ดัชนีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการลงทุนในระยะยาว
ทางเลือกลงทุนหุ้นเทคจีน อ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH ผ่าน DR on ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF (3088.HK) ผ่านตลาดหุ้นไทย เร็ว ๆ นี้... แต่ สามารถทำการจอง IPO ได้ในวันที่ 18-19 ก.ค. 65 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น.
DR น้องใหม่ จากหลักทรัพย์บัวหลวง โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงคือ ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF สัญลักษณ์ “3088” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ลงทุนอิงดัชนี Hang Seng TECH และออกโดยบริษัท ChinaAMC สาขาฮ่องกง
DR เปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในต่างประเทศที่สะดวก โดย 3088 ที่ DR เข้าลงทุน เน้นลงทุนในหุ้นเทคฯ จีนและฮ่องกง 30 ตัว เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นเกาะธีมเทคโนโลยีฝั่งเอเชีย และเป็นที่รู้จักระดับโลก
กลุ่มอุตสาหกรรมในดัชนี Hang Seng TECH มีกลุ่มไหนบ้าง ?
Source: Hang Seng Indexes Company, Shanghai Stock Exchange ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 65
จากรูปด้านบน กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักในดัชนีมากที่สุดคือ กลุ่มเทคโนโลยี มีน้ำหนักประมาณ 78% ของดัชนี, กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย มีน้ำหนัก 9% ของดัชนี และกลุ่มอุตสาหการ มีน้ำหนัก 7% ของดัชนี
10 อันดับหุ้นแรก! ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนี Hang Seng TECH (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 65)
1. Alibaba Group Holding Ltd. (9988.HK) สัดส่วนในดัชนี 8.5%
อีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายปลีกออนไลน์ อย่าง Alibaba, Tmall, Taobao ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับอาลีบาบา คิดเป็นสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 71% โดยรายได้แตะ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ปี 65 (รอบบัญชี: ) เติบโตราว 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ยงดำเนินธุรกิจในกลุ่มอื่น ๆ เช่น Lazada ค้าปลีกนานาชาติ, Freshippo ซูเปอร์มาเก็ตขายสินค้าสด และ Cainiao บริการโลจิสติกส์ ตลอดจนธุรกิจสื่อดิจิทัล และ Cloud Computing เป็นต้น ที่ครอบคลุมที่สุดในจีน
2. Xiaomi Corp. (1810.HK) สัดส่วนในดัชนี 8.5%
บริษัทสัญชาติจีน หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟน ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจสมาร์ทโฟนในไตรมาส 4 ปี 64 เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีรายได้จากการจำหน่ายสมาร์ทโฟนถึง 208.9 พันล้านหยวน หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท จากยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรวมกว่า 190 ล้านเครื่องในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้นราว 30% จากปีก่อน นอกจากนี้ Xiaomi ยังเป็นผู้สร้างอุปกรณ์เทคโนโลยีอัจฉริยะอีกมากมาย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และยังเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม AIoT หรือ Artificial Intelligence of Things ที่เชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ Xiaomi อยู่มากกว่า 434 ล้านเครื่องในปัจจุบัน
3. JD.Com Inc. (9618.HK) สัดส่วนในดัชนี 8.0%
อีคอมเมิร์ซอันดับ 2 ของจีน มีโมเดลต่างจาก Alibaba ตรงที่ขายสินค้าเอง ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มตัวกลาง เป็นเว็บไซต์ขายปลีกออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อแบรนด์ต่างประเทศได้ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้โดยตรงไปยังผลิตภัณฑ์แท้คุณภาพสูง อีกทั้งยังช่วยให้แบรนด์ในประเทศและต่างประเทศเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนได้มากขึ้น JD.com ยังลงทุนอย่างมากในการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงาน รวมถึงโลจิสติกส์อัจฉริยะ, supply chain, AI และ Virtual Reality
4. Kuaishou Technology (1024.HK) สัดส่วนในดัชนี 7.8%
เจ้าของแพลตฟอร์มรวมคอนเทนต์ประเภทวิดิโอสั้นและไลฟ์สตรีมมิ่ง เปรียบเสมือนคู่แข่ง TikTok ในประเทศจีน และยังได้ส่วนแบ่งรายได้มาจากการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับเกมมือถือ การตลาดออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ โดยในไตรมาส 1 ปี 65 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อวันและผู้ใช้งานต่อเดือนเฉลี่ยของแอปฯ Kuaishou เพิ่มขึ้น 17.0% และ 15.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะ 345.5 ล้านรายและ 597.9 ล้านราย ตามลำดับ
5. Meituan (3690.HK) สัดส่วนในดัชนี 7.4%
เจ้าของแอปพลิเคชันธุรกิจส่งอาหารและให้บริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยถือว่าเป็น Super App แบบ all-in-one ที่พร้อมให้บริการ ทั้งในด้านการส่งอาหาร จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ รีวิวร้านอาหาร จองโรงแรม โดยไตรมาส 1 ปี 65 รายได้จากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเทียบปีก่อน แตะ 24.2 พันล้านหยวนหนุนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณและมูลค่ารายการสั่งซื้อ
6. Tencent Holdings Ltd (700.HK) สัดส่วนในดัชนี 7.3%
หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีธุรกิจแอปพลิเคชันออนไลน์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เช่น วิดีโอเกม โซเชียลมีเดีย สื่อบันเทิง บริการสตรีมมิ่ง และบริการ Cloud โดย Tencent ถือว่าเป็นบริษัทแพลตฟอร์มเกมจากจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คำนวณจากรายได้จากเกมในปี 64 อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ WeChat แอปพลิเคชันส่งข้อความที่ชาวจีนนิยมใช้มากที่สุด โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 1.2 พันล้านคนต่อเดือน (MAUs)
7. Sunny Optical Technology (Group) Co. Ltd (2823.HK) สัดส่วนในดัชนี 5.6%
ผู้ผลิตเลนส์ระดับโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ด้านเลนส์ยานยนต์ในจีน โดยคำนวณจากรายได้ในปี 64 ดำเนินธุรกิจหลักในการออกแบบ วิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับออปติคัลและออปติก เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และโมดูลออปติกอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เลนส์แก้ว/พลาสติก กระจก ปริซึม โมดูลเลนส์ กล้องจุลทรรศน์ มาตรวิทยา เครื่องมือวิเคราะห์ โมดูลกล้องโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
8. NetEase Inc (9999.HK) สัดส่วนในดัชนี 5.4%
ผู้พัฒนาและดำเนินการออนไลน์พีซีและเกมมือถือออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีนรองจาก Tencent คำนวณจากรายได้ในปี 64 อยู่ที่ 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 22% จากปี 63 อีกทั้งยังให้บริการโฆษณา บริการอีเมล และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน
9. Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC (981.HK) สัดส่วนในดัชนี 5.0%
ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน เป็นหนึ่งในโรงหล่อชั้นนำของโลกและเป็นผู้นำในด้านความสามารถในการผลิต และการบริการที่ครอบคลุมในจีนแผ่นดินใหญ่รวมถึงลูกค้าทั่วโลก SMIC Group ให้บริการโรงหล่อเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีรายได้ปี 64 ที่ 5.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน โดยถือว่ามีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุนับตั้งแต่ปี 53 ขณะที่กำไรสุทธิอแตะ 1.7 พันล้านดอลลาร์ โตสามหลักที่ 138% เมื่อเทียบกับปีก่อน
10. Haier Smart Home Co. Ltd (6690.HK) สัดส่วนในดัชนี 4.4%
หนึ่งในผู้ผลิตและพัฒนาเครื่องใช้ในครัวเรือนหลากหลายประเภทชั้นนำของโลก มุ่งเน้นที่ระบบนิเวศบ้านอัจฉริยะ อย่าง Smart Home Experiential Cloud ที่เชื่อมต่อบ้าน ผู้ใช้ องค์กร และพันธมิตรในระบบนิเวศ และอำนวยความสะดวกในการผสานรวมธุรกิจออนไลน์ ออฟไลน์ ของไฮเออร์ โดยในปี 64 ที่ผ่านมามีรายได้เพิ่มขึ้น 15.8% แตะ 227.6 พันล้านหยวน กำไรเพิ่มขึ้น 47.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี
Forward P/E ปี 65 และ อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของหุ้น 10 ตัวแรกที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนี

✨ สนใจเปิดบัญชีหุ้นออนไลน์กับหลักทรัพย์บัวหลวงเพื่อลงทุนใน DR ง่ายๆ ผ่านตลาดหุ้นไทย ได้ที่ http://bls.tips/KnowledgeTeam ✨
ที่มา :
Bloomberg, Investopedia, Yahoo Finance , Mi.com , ChinaAMC , Kuaishou.com, Polygon, marketsandresearch , crunchbase.com, CNBC, Macrotrends
เรียบเรียงโดย:
ศิวพรรณ ประดิษฐ์กุล, Supervisor: Global Investing Solutions, บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง
ภัทริกา สุทนุจินดา, Product Specialist: Global Investing Solutions, บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง
ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 65